ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กล่าวว่าอาการคอแห้ง “ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง” ในการติดเชื้อ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 17 กันยายน 2020 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563
คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “กระทรวงสาธารณะสุขแจ้งเตือนว่า:
ไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก
“วิธีป้องกันคือ
- ต้องรักษาความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกลำคอ
- อย่าให้ลำคอแห้ง ดังนั้นห้ามทนกระหายน้ำ
เพราะถ้าเยื่อเมือกลำคอแห้ง เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้
- เมื่อรู้สึกกระหายน้ำก็ดื่ม”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่ และถูกแชร์ผ่านไลน์ในภาพถ่ายหน้าจอด้านล่าง
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ว่ากระทรวงสาธารณสุข “ไม่เคยประกาศเรื่องนี้”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 โดยอธิบายว่าอาการคอแห้ง “ไม่เกี่ยว” กับการติดเชื้อในมนุษย์
“อาการคอแห้งไม่ได้เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัส เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราผ่านทางเซลล์ ลงทางเดินหายใจ ผ่านหลอดลมและเข้าสู่ปอดในที่สุด อาการคอแห้งไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส รวมถึงโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกัน” รศ.นพ.ธีระ กล่าว
แม้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการไอจะได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำ “เพื่อลดการระคายเคือง” แต่เขากล่าวว่า “นี่ไม่ใช่วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส”
บนเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หัวข้อมีหัวข้อย่อยซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “การติดเชื้อเกิดขึ้นอย่างไร” เนื้อหาข้างใต้หัวข้อดังกล่าวไม่มีการเอ่ยถึงอาการ “คอแห้ง”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา