วิดีโอนี้ปรากฏอยู่ในรายงานออนไลน์เกี่ยวกับพายุลูกเห็บที่ประเทศออสเตรเลียในปี 2562

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 21 เมษายน 2020 เวลา 06:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
วิดีโอนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กและมีคนเข้าไปรับชมนับแสนครั้ง พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นวิดีโอที่แสดงพายุลูกเห็บที่จังหวัดเชียงราย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอนี้ปรากฏอยู่ในรายงานพายุลูกเห็บที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนพฤศจิกายน 2562

วิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 จนมียอดรับชมแล้วกว่าแสนครั้ง และได้ถูกแชร์ออกต่ออีกกว่า 4,600 ครั้ง

วิดีโอความยาว 1 นาที 56 วินาทีนี้แสดงภาพขณะลูกเห็บขนาดใหญ่ตกลงใส่รถคันหนึ่งที่จอดอยู่บนถนน

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายในโพสต์เขียนว่า “ไม่ใช่หนัง ไม่ใช่ต่างประเทศ เหตุเกิดที่อ.เชียงแสน เชียงรายวันนี้ ผีซ้ำด้ามพลอย ประเทศไทย!!!?”

วิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

เมื่อนำวิดีโอมาค้นหาย้อนหลังโดยการใช้คีย์เฟรมผ่านเครื่องมือตรวจสอบวิดีโอ InVID-WeVerify พบคลิปวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูปของ ViralHog สื่อออนไลน์ของสหรัฐฯ ที่แชร์เนื้อหาไวรัล

วิดีโอนี้ ซึ่งมียอดรับชมกว่า 47,000 ครั้ง มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “พายุลูกเห็บถล่มรถภายในไม่กี่วินาที”

คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า “เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ปาล์มวิว รัฐควีนส์เเลนด์ ออสเตรเลีย พายุลูกเห็บที่รุนแรงพัดถล่มชายฝั่งซันไชน์ ภายในไม่กี่นาทีรถถูกทำลาย เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า $100,000 กับรถยนต์และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่”

ด้านล้างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอบนยูทูป (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอบนยูทูป (ขวา)

เมื่อนำสำคัญมาค้นหาผ่านกูเกิลพบรายงานข่าวฉบับนี้ของ 7NEWS เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ของประเทศออสเตรเลีย

รายงานข่าวเขียนพาดหัวว่า “ลูกเห็บบริสเบน: พายุโหมกระหน่ำภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของบทความของ 7NEWS

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของบทความของ 7NEWS

รายงานนี้ระบุที่มาของวิดีโอว่ามาจากบัญชีเฟซบุ๊กของ Lisa Thomas โดยสำนักข่าว AFP ได้รับการยืนยันจากเธอทางอีเมลเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ว่า “ใช่ ฉันเป็นคนถ่ายวิดีโอรถยนต์ของลูกสาวฉัน ถ่ายที่ชายฝั่งซันไชน์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และจดลิขสิทธิ์ผ่าน ViralHog”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา