ขวดพลาสติกใช้แล้วในตู้คอนเทนเนอร์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ( AFP / Mladen ANTONOV)

ผู้เชี่ยวชาญปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่า “การแช่แข็งขวดพลาสติกปล่อยสารก่อมะเร็ง”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 1 มีนาคม 2022 เวลา 09:55
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 2 มีนาคม 2022 เวลา 06:15
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งมียอดรับชมนับพันครั้ง แสดงแพทย์คนหนึ่งกำลังเตือนว่าการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปแช่ช่องแข็งจะ “ปล่อยสารก่อมะเร็ง” นักเคมีวิทยาอธิบายกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่มีหลักฐานสนับสนุน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่รายการดังกล่าวได้กล่าวขอโทษและนำคลิปวิดีโอออกจากเว็บไซต์

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “อันตราย!! อย่าแช่ขวดน้ำดื่มและถุงพลาสติกในช่องแช่แข็ง

เมื่อสารพลาสติกเจอความเย็นจนเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา เป็นสารก่อมะเร็ง ฟังคำแนะนำจาก ศาสตราจารย์วุฒิคุณ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คลิปวิดีโอเป็นส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ “ปังหรือพังฟังรีวิว” มีแขกรับเชิญเป็นนพ.พรเทพ

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว นพ.พรเทพ นำขวดน้ำออกมาจากช่องแข็งพร้อมพูดว่า: “อันนี้อย่าไปกินเลยนะ มันแปะติดเนี่ยนะ เวลากลายเป็นความเย็น มันต้องคายความร้อนออกมา คายความร้อนออกมาแล้วมันก็มาโดนพลาสติก เป็นน้ำแข็งมันจะดูดสารไดออกซินออกมา”

ไดออกซินเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ไดออกซินส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม และสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งได้ระบุว่าสารดังกล่าวเป็น “สารที่ก่อมะเร็งในมนุษย์”

ในช่วงนาทีที่ 0:54 มีข้อความปรากฏขึ้นในรายการ ซึ่งเขียนว่า: “พลาสติก + ความเย็นจัด = สารก่อมะเร็ง”

คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย เช่นทางเฟซบุ๊กและยูทูปที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

นักเคมีวิทยากล่าวว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการแช่แข็งพลาสติกจะส่งผลให้สารไดออกซินถูกปล่อยออกมา

คำกล่าวอ้าง “เพ้อเจ้อ”

ธีรยุทธ วิไลวัลย์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว “เพ้อเจ้อ” และ “ไม่มีมูล”

สารไดออกซินก่อตัวขึ้นจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เช่นในเตาเผาขยะที่ผิดกฏหมาย และการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปแช่ช่องฟรีส “ไม่ทำให้สารไดออกซินถูกปล่อยออกมา” เขากล่าว

“การนำภาชนะพลาสติกไปเข้าช่องฟรีสไม่ได้ทำให้มีการปล่อยสารไดออกซินหรือสารพิษใดๆ” วีระ ขวัญเลิศจิตต์  ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย ยืนยันกับ AFP

“แล้วก็ไม่มีสารไดออกซินในขั้นตอนการผลิตพลาสติก” เขากล่าวเพิ่ม

วีระอธิบายว่าการแช่แข็งบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีผลทำให้มัน “กรอบและเปราะแตก”

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศรายการ “ปังหรือพังฟังรีวิว” ได้ออกมากล่าวขอโทษที่เผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าวและได้ลบคลิปวิดีโอออกจากเว็บไซต์และช่องยูทูปของสถานี

ไทยพีบีเอสชี้แจงผ่านโพสต์ทางเฟซบุ๊กในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเขียนคำอธิบายว่า “สืบเนื่องจากรายการปังหรือพัง ฟังรีวิว ตอน “น้ำแข็ง” ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ทางไทยพีบีเอส ได้นำเสนอข้อมูลในรายการที่ไม่ได้ตรวจสอบให้รอบด้าน เกี่ยวกับ “การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารและเครื่องดื่มในช่องแช่แข็งของตู้เย็น” ทางรายการ ขอน้อมรับความผิดพลาดในครั้งนี้ และได้ดําเนินการนําเอาข้อมูลดังกล่าว ออกไปจากตอนนี้แล้ว พร้อมทั้งขอนําเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อผู้บริโภคในโอกาสต่อไป เร็วๆ นี้”

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างของนพ.พรเทพ ว่าการรับประทานส้มตำสามารถช่วงป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

2 มีนาคม 2565 รายงานนี้ได้เปลี่ยนลิงก์คำชี้แจงของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจากทวิตเตอร์เป็นเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเท็จที่ถูกเผยแพร่ในรายการ ปังหรือพังฟังรีวิว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา