คลิปวิดีโอเก่าจากเกม ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นคลิปวิดีโอสดที่เกี่ยวกับวิกฤติในประเทศยูเครน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 11:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
คลิปวิดีโอที่แสดงการยิงอาวุธใส่อาคารและเครื่องบินในช่วงกลางคืน ได้ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นวิดีโอการถ่ายทอดสดของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2565 อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วีดีโอนี้เป็นภาพจาก ARMA 3 ซึ่งเป็นวีดีโอเกมจำลองการสู้รบของหทาร โดยบริษัทที่พัฒนาเกมนี้ยืนยันกับ AFP ว่าวีดีโอนี้ไม่ใช่เหตุการณ์จริง

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยถูกแชร์ว่าเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกสตรีมสด โดยเป็นวิดีโอที่มีความยาวกว่า 11 ชั่วโมง ซึ่งเป็นฉากการต่อสู้ในตอนกลางคืน พร้อมคำบรรยายที่เขียนว่า “สงครามรัสเซียกับยูเครน”

Image

คลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดรับชมหลายแสนครั้งทางเฟซบุ๊ก

โพสต์คล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางยูทูป และในเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

ตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการณ์ทางทหารเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนชาวยูเครนต้องลี้ภัยสงครามและเดินทางไปยังประเทศเพื่อนใกล้เคียงแล้วมากกว่า 2 ล้านคน AFP รายงาน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคน เชื่อว่านี่เป็นวิดีโอที่แสดงการสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียจริง

ผู้ใช้คนหนึ่งเขียนว่า “สงสารประชาชน” ขณะที่อีกคนเขียนว่า “ยูเครนสู้ๆ”

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด

การค้นหาภาพย้อนหลังพบวิดีโอยูทูปที่แสดงฉากเดียวกัน ที่นี่ นี่และนี่ ถูกโพสต์ลงยูทูประหว่างเดือนธันวาคม 2563 และมกราคม 2564

Compared Comparison ช่องยูทูปที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวเขียนคำอธิบายว่าเป็นช่องยูทูปที่สร้างฉากภาพยนตร์สงครามที่ทันสมัยและเสมือนจริง

เจ้าของช่องยูทูปดังกล่าวยืนยันว่าวิดีโอสร้างขึ้นโดยภาพกราฟิกจากเกมในคอมพิวเตอร์

“คลิปวิดีโอนั้นถูกผมสร้างขึ้นโดยใช้เกม ARMA 3 มันน่าเศร้าที่หลายคนเอาคลิปวิดีโอผมไปเผยแพร่ที่อื่นพร้อมกล่าวว่าเป็นคลิปจริง” เขาบอก

ARMA 3 เป็นเกมคอมพิวเตอร์แนวสงครามที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2556 และถูกพัฒนาโดยบริษัท Bohemia Interactive ในประเทศสาธารณรัฐเช็ก

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอจากช่องยูทูป Compared Comparison (ขวา):

Image
Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอจากช่องยูทูป Compared Comparison (ขวา)

Bohemia Interactive บริษัทผู้พัฒนา ARMA 3 ยืนยันกับ AFP ว่าวิดีโอความยาวหลายชั่วโมง ถูกสร้างขึ้นจากเกมพวกเขา และไม่ใช่เหตุการณ์จริง

“ผมสามารถยืนยันได้ว่าคลิปวิดีโอทั้งสองถูกนำมาจากเกม ARMA ที่ผ่านการใช้ Mod (แก้ไข) อย่างหนัก” Pavel Křižka ตัวแทนของบริษัท Bohemia Interactive กล่าว

AFP ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอที่นำภาพจำลองจากเกม ARMA 3 มาแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์สู้รบจริง ที่นี่ นี่ นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา