
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนเรื่องการดื่มน้ำจากต้นกล้วยเพื่อ “รักษาอาการกรดไหลย้อน”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 08:22
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ในกล่มที่มีสมาชิกกว่า 125,000 คน
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพช้อนที่เสียบด้ามจับเข้าไปในต้นกล้วย โดยมีของเหลวสีขุ่นไหลออกมาที่ช้อน
คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: “เคยเป็นกรดไหลย้อน ทรมานมาก ไปหาหมอรักษาก็ไม่หาย ยาดีๆ แพงๆ ก็ซื้อมากิน ก็รักษาไม่หายสักที”
“เลยนึกถึงยาสมุนไพรตามแบบโบราณบ้านๆขึ้นได้ เลยลองไปหามากิน คือไปเอาน้ำมาจากต้นกล้วย นำมากินวันละสองช้อน มันจะรู้สึกดีขึ้นและจะค่อยๆ หายไป ... ผมกินอยู่ 15 วัน ปัจจุบัน ผมหายสนิทเลย ไม่จุก ไม่ทรมาน ไม่ร้อนคอ ขมคอ อย่ามองข้ามภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณๆนะครับ รับรองหายขาดครับ ไม่กลับมาเป็นอีกเลยครับ”
โพสต์ดังกล่าวระบุถึงของเหลวที่อยู่ข้างในต้นกล้วย

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของระบบบริการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NHS) กรดไหลย้อน คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นลำคอ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกแสบที่บริเวณหน้าอก หรือในบริเวณลิ้นปี่
หลายคนจะมีอาการเสียดท้องหรือกรดไหลย้อน อาการดังกล่าวเกิดขึ้นหรือกำเริบขึ้นโดยมีต้นเหตุจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่นโรคอ้วน การตั้งครรภ์ หรือนิสัยอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ หรือการรับประทานอาหารเผ็ดและไขมันสูง
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ที่นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานว่าของเหลวที่ถูกสกัดจากต้นกล้วยจะสามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้
“ข่าวลือที่ไม่มีมูล”
“เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูล” บุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
“ไม่มีการบันทึกไว้ในตำราการแพทย์แผนไทยที่กล่าวว่าน้ำจากต้นกล้วยจะสามารถใช้รักษาอาการกรดไหลย้อนได้” เธอยืนยันกับ AFP
ผศ.นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา แพทย์ด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี ยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนวิธีการดังกล่าวที่ถูกนำมากล่าวอ้างว่ารักษาอาการกรดไหลย้อนได้
“ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าของเหลวที่สกัดจากต้นกล้วย จะมีคุณสมบัติในการรักษาหรือบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน” เขากล่าว
เขาแนะนำว่าคนที่มีอาการดังกล่าวควรเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และกินอาหารที่เบาขึ้น ไม่กินแล้วนอนทันที หรือใช้ยาที่หาได้ตามร้านขายยาในกรณีที่มีอาการ
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเตือนว่าของเหลวจากต้นกล้วย อาจจะเป็นอันตรายได้ถ้าหากรับประทานเข้าไป
“ไม่สะอาด”
บุษราภรณ์กล่าวว่า ของเหลวดังกล่าวอาจจะมีส่วนผสมของยางอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับระบบทางเดินอาหาร ในขณะที่ นพ.สยาม กล่าวเช่นกันว่าสารดังกล่าวอาจจะ “ระคายเคืองและทำให้ระบบทางเดินอาหารอักเสบและอาจจะเป็นอันตรายได้”
ดร.ภก.นนทเลิศ เลิศนิติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่าของเหลวที่สกัดออกมาจากต้นกล้วยนั้น “ไม่สะอาด” และ “ไม่ควรนำมาบริโภคเพื่อการรักษาโรคใดๆ”
เขาบอกว่าส่วนประกอบของเหลวที่สกัดออกมากจากต้นกล้วย มีส่วนประกอบของน้ำ ยางกล้วย และสารปนเปื้อนอื่นๆ อีก เช่นฝุ่นและเชื้อโรค
“ผมไม่แนะนำให้นำมาดื่ม เพราะมันไม่สะอาดและอาจจะเป็นผลร้ายต่อร่างกายของเราได้ โดยเฉพาะถ้าเราป่วยอยู่” เขากล่าว
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา