ภาพถ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกนำมาโยงกับว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 27 พฤษภาคม 2022 เวลา 13:26
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายขาวดำของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ที่ถือปืนระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี 2519 ได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าชายในภาพดังกล่าวคือพ่อของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด แม้ว่าพ่อของว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ จะร่วมปฏิบัติการสลายการชุมนุมดังกล่าวจริง แต่บันทึกสาธารณะระบุว่าชายในภาพไม่ใช่พ่อของเขา ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยยืนยันเช่นกันว่าชายในภาพไม่ใช่พ่อของชัชชาติ 

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565

คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ไอ้ขี้ข้าเหี้...ตัวนี้ ไม่ได้อยู่ในสายตาเลยครับ #เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพชุดหนึ่ง โดยมีภาพถ่ายขาวดำที่แสดงเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งถือปืน และอีกภาพถ่ายที่แสดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีอีกสามภาพที่เหลือ เป็นภาพชัชชาติถ่ายรูปกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

 


ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนภาพ เขียนว่า “อ๋อ นึกว่าใคร พ.ต.ต. เสน่ห์ สิทธิพันธ์ พ่อชัชชาติสมัยล้อมปราบนศ. มธ. 6 ตุลาคม 2519 นี่เอง”

“คาบบุหรี่สบายใจเลย”

“ชาวเน็ตขุดจนเจอ! พ่อของชัชชาติเคยรับใช้ทรราช”

คำกล่าวอ้างนี้ถูกนำกลับมาแชร์อีกครั้ง หนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ชัชชาติ เป็นหนึ่งในผู้สมัครจากทั้งหมด 31 คน ซึ่งชนะการเลือกตั้งโดยมีคำแนนนำผู้สมัครคนอื่นๆ ในสัดส่วนที่สูงมาก

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังความมั่นคงในประเทศไทยเข้าใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านการกลับมาของผู้นำเผด็จการที่ถูกโค่นล้มไปเมื่อสามปีก่อน

ภาพถ่ายเดียวกัน ได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

แม้ว่าพลตํารวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ พ่อของชัชชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงในปี 2519 จริง แต่เขาไม่ใช่ชายในภาพถ่ายที่ถูกแชร์ในโพสต์ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพถ่ายเดียวกันที่แสดงชายที่ถือปืน ถูกเผยแพร่ที่นี่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2556 โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ตำรวจในภาพนี้คือ วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล มียศหลังสุดเป็นพันตำรวจโท เพิ่งเสียชีวิตเมื่อต้นปีนี้”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่โดยกลุ่ม LLTD (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่โดยกลุ่ม LLTD (ขวา)


เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา เว็บไซต์ที่รวบรวมหลักฐานและข้อมูลเกี่ยวกับโศกนาฏกรรม ซึ่งดูแลโดยกลุ่มนักวิชาการและนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุเช่นกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในภาพคือ วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล ซึ่งในตอนนั้นเขาดำรงตำแหน่งร้อยตำรวจโท

คำบรรยายของภาพถ่ายดังกล่าวบนเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา เขียนว่า: “ร.ต.ท.วัชรินทร์ นายตำรวจในภาพที่เป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งกำลังคาบบุหรี่ขณะยิง ปีนเข้าไปในธรรมศาสตร์จากรั้วด้านหน้าหอประชุมใหญ่”

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่าภาพถ่ายดังกล่าว ไม่ได้แสดง พลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์

“ผู้ชายคนในภาพ ไม่ใช่ เสน่ห์ สิทธิพันธุ์” ดร.พวงทอง ยืนยันกับ AFP

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานักศึกษาขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในปี 2519 บอกกับ AFP เช่นกันว่าชายในภาพ “ไม่ใช่ เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อย่างแน่นอน” 

พ่อของผู้ว่ากรุงเทพฯ

ข้อมูลสาธารณะระบุว่า เสน่ห์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งพลตำรวจตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ประท้วงในปี 2519

บันทึกที่ถูกรวบรวมอยู่ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา เขียนว่า: “07.50 น. ... พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ”

“08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือเตรียมบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกกับสำนักข่าว AFP ว่า พลตำรวจเอก เสน่ห์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจนครบาลในปี 2519 และเกษียณราชการในปี 2529

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา