ขบวนพาเหรดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกขัดจังหวะโดยนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ไม่ใช่ “ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 13 มิถุนายน 2022 เวลา 07:45
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “วินาที สามกีบUK ก่อกวนพิธีสวนสนามของทหารอังกฤษ ในงานฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี ของควีน อลิซเบธ”
สามกีบเป็นฉายาที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใช้เรียกกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย ซึ่งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้ว โดยเป็นการเคลื่อนไหวที่เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2563
การเคลื่อนไหวดังกล่าวสามารถระดมมวลชนได้สูงสุดนับหมื่น โดยมวลชนออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง พลเอกประยุทธ์เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ขึ้นสู่อำนาจในการรัฐประหารในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557
“โดนหิ้วออกไป เหมือน Moo เหมือน Mha ... ลิเบอรัลมากไป ก็ไม่มีใครต้อนรับ โดนโห่แรงอีกต่างหาก”
“เหตุการณ์นี้ที่อังกฤษ การันตีได้เลยว่า ความกีบ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อี้!!!!! น่ามสาร #BBC มาทำสกู๊ปด่วนนน”
คลิปวิดีโอความยาว 44 วินาทีแสดงสมาชิกวงโยธวาทิตของพระราชินีในพื้นที่ใกล้กับพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน
ในคลิปวิดีโอสามารถสังเกตเห็นคนจำนวนหนึ่งกระโดดเข้าขวางเส้นทางของวงโยธวาทิต ก่อนที่พวกเขาจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากตัวออกไป
ข้อความที่เขียนอยู่บนวิดีโอ แปลเป็นภาษาไทยว่า: “ผู้ประท้วง Animal Rebellion ขัดจังหวะ Trooping The Colour”
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 70 ปี ในเดือนมิถุนายน 2565 โดยมีงานเฉลิมฉลองทั้งหมด 4 วัน ของการครองราชย์ของกษัตริย์ที่ยาวนานที่สุด ซึ่งรวมถึงขบวนพาเหรดทหาร Trooping the Colour และคอนเสิร์ตที่มีทั้งดาราและศิลปินมาร่วมแสดง
คลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดวิวกว่า 21,000 ครั้ง ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กคล้ายๆ กันที่นี่ นี่ นี่และนี่
คอมเมนต์จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคน แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อว่าคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการประท้วงต่อต้านการเฉลิมฉลองและพูดถึงการประท้วงของประเทศไทย
คนหนึ่งเขียนว่า: “มันเลียนแบบ3กีบไทยเหรอ”
อีกคนหนึ่งเขียนว่า: “ประเทศไทยต้องเด็ดขาดอย่าปล่อยให้ คนป่วนลอยนวล”
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
การประท้วงของ Animal Rebellion
คลิปวิดีโอเดียวกัน ถูกเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ 9GAG เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่าคลิปวิดีโอแสดงกลุ่มผู้ประท้วง Animal Rebellion ที่ขัดจังหวะขบวนฉลองสิริราชสมบัติ
การค้นหาด้วยคำสำคัญ พบคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการประท้วงเดียวกัน ถูกเผยแพร่อยู่ในรายงานของหนังสือพิมพ์อังกฤษ The Guardian เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน เกี่ยวกับกลุ่มนักเคลื่อนไหว Animal Rebellion โดยเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม Extinction Rebellion
ชื่อของคลิปวิดีโอดังกล่าว แปลเป็นภาษาไทยว่า: “ผู้ประท้วง Animal Rebellion ถูกจับกุมระหว่างการเฉลิมฉลอง การครองราชย์ครบรอบแพลทินัม”
คลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งถ่ายจากฝั่งตรงข้ามถนน The Mall ในย่านเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งแสดงชายที่ใส่เสื้อสีเหลืองคนเดียวกันกับที่ปรากฏในขบวนพาเหรด และนักเคลื่อนไหวที่ใส่ชุดสีเขียวที่กำลังวิ่งเข้าใส่ขบวน
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอของ Guardian (ขวา) โดยมีวงกลมตรงจุดที่ตรงกัน:
ตัวแทนของ Animal Rebellion ยืนยันกับ AFP ว่าบุคคลในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นสมาชิกของกลุ่มจริง
“การประท้วงเกิดขึ้นเพื่อดึงความสนใจเพื่อรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนผ่านจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สู่การทำเกษตรจากพืชแบบยั่งยืน” โฆษกของกลุ่มกล่าว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกลุ่ม ระบุว่ามีเป้าหมายในการสนับสนุนประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศและสิทธิสัตว์
ข้อมูลบนเว็บไซต์แปลเป็นภาษาไทยว่า “Animal Rebellion เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนขนาดใหญ่ที่ใช้อารยะขัดขืนที่ปราศจากความรุนแรง ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบอาหารที่ผลิตจากพืชที่ยั่งยืน เพื่อหยุดการสูญพันธุ์ และบรรเทาผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและรับรองความยุติธรรมให้กับสัตว์ทุกชนิด”
Animal Rebellion ได้แชร์โพสต์ทางทวิตเตอร์เกี่ยวกับการประท้วงดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565
Yesterday, Animal Rebels disrupted the Queen’s Platinum Jubilee celebrations to demand we Reclaim Royal Land as part of a broader wildlife restoration and carbon drawdown plan for a Plant-Based Future.
— Animal Rebellion (@RebelsAnimal) June 3, 2022
Join our talk tonight to find out how you can get involved.
Link in bio⬆️ pic.twitter.com/OLlUPdzRSL
มีหลายสื่อในอังกฤษทำข่าวเกี่ยวกับการประท้วงดังกล่าว เช่นที่นี่และนี่ โดยในรายงานระบุว่านักเคลื่อนไหวกลุ่มดังกล่าวรณรงค์ให้สหราชอาณาจักรเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำระบบการเกษตรจากพืชเป็นหลัก
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา