คำกล่าวอ้างเท็จว่า “ยาพาราเซตามอลมีส่วนผสมของไวรัสแมคชูโป” ถูกแชร์ในโพสต์ออนไลน์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 20 มิถุนายน 2022 เวลา 06:20
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊กนี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 เขียนว่า: “เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรสาธารณสุขและองค์การอาหารและยาปล่อยให้ออกมาได้อย่างไร
ช่อง 9 เพิ่งออกข่าวภาคค่ำ วันนี้จ๊ะ.ตอนนี้พบ 11จังหวัด รวม กทม ด้วย โปรดกระจายข่าวสารนี้ให้ประชาชนได้รับทราบรวมทั้งคนในครอบครัวด้วย”
คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ที่นี่ นี่และนี่ ในประเทศไทย
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ในประเทศมาเลเซียและประเทศเมียนมาร์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าคำกล่าวอ้างนี้ “เป็นเท็จ”
ไวรัสมาชูโป
มาชูโปเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกโบลิเวีย (Bolivian haemorrhagic fever) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตระหว่าง 5-30% จากข้อมูลขององค์กรสุขภาพแพนอเมริกัน
ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ AFP ว่าการที่เม็ดยาพาราเซตามอลจะมีส่วนผสมของไวรัสดังกล่าวเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้”
“ยืนยันได้ว่าเรื่องนี้เป็นเท็จ” อลิศรา แสงวิรุณ อาจารย์ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565
เธออธิบายว่า “ขั้นตอนการผลิตเม็ดยา ต้องมีสภาพแวดล้อมที่แห้งมาก ไวรัสจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้เพราะไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ชื้นและมีอุณหภูมิต่ำ”
“นอกจากนี้ บริษัทยาเองก็ต้องมีมาตรฐานการควบคุมคุณภาพการผลิต ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้เลยว่ายาจะมีส่วนผสมของไวรัสปะปนอยู่”
ธนภรณ์ จบศรี เภสัชกรขององค์การเภสัชกรรม ยืนยันเช่นกันโดยระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม”
“การผลิตยาต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวดโดยผู้ผลิตภาคเภสัชกรรม ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ยาจะมีส่วนผสมของไวรัส”
P-500 ไม่ได้มีจำหน่ายในประเทศไทย
เว็บไซต์ฐานข้อมูลยาแห่งชาติของประเทศไทย ระบุว่ายาพาราเซตามอลยี่ห้อ P-500 ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
“ยาพาราเซตามอลชนิด P-500 ไม่ได้ถูกวางขายในประเทศไทยนะคะ ยาตัวนี้ไม่เคยได้รับการจดทะเบียนค่ะ” ธนภรณ์กล่าว
“ยาพาราเซตามอลถูกวางจำหน่ายในหลายยี่ห้อในไทย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา อย่างไรก็ตามไม่มี P-500 ขายในไทยค่ะ” อลิศรากล่าวเพิ่มเติม
รายงานของช่อง 9
พีรพล อนุตรโสตถิ์ นักข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริงของศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ ระบุว่าช่อง 9 ไม่เคยรายงานว่ายาพาราเซตามอล P-500 มีส่วนผสมของไวรัสแมคชูโป
“เราไม่ได้รายงานนี้” เขายืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565
ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565
วิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “ช่อง 9 ออกข่าว พบยาพาราฯ มีไวรัส จริงหรือ ? สรุป: มั่ว อย่าแชร์”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสมาชูโปในประเทศไทย
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ของกรมควบคุมโรค ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ว่า “ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสดังกล่าวในประเทศไทยนะครับ เรื่องนี่เป็นข่าวปลอมแน่นอน”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา