โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับการพบโรคฝีดาษลิงในไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเก้าคน ได้ถูกแชร์ออกไปในหลายโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่ายุงเป็นพาหะของเชื้อ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยายืนยันกับ AFP ว่า ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อหรือการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิง ขณะที่ไวรัสโรคฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้ในกรณีที่อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “เจอแล้ว ในไทย โรค"ฝีดาษลิง" 9 คน เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานเกาะช้าง และเจ้าหน้าที่เกาะล้าน พาหนะคือยุงก้นป่อง ที่ไปกัดลิง แล้ว ยุงมากัดคนบนเกาะ น่ากลัวนะจ๊ะ ข่าว 7 สี รายงาน”

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายที่ถูกใช้ในรายงานข่าว โดยเป็นภาพกราฟิกข่าวที่แสดงหลังของเด็กที่มีตุ่มขึ้นบนผิวหนัง พร้อมข้อความที่เขียนว่า: “กักตัว 21 วัน ผู้ป่วยฝีดาษลิง”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ พร้อมภาพกราฟิกข่าวคล้ายๆ กัน
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในขณะที่มีรายงานเกี่ยวกับการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร สเปน และโปรตุเกส
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
ฝีดาษลิงในไทย
ดร.นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ว่า: “คำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง”
“ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ยังไม่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศ” เขากล่าว
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 หน่วยงานดังกล่าวได้เผยแพร่แถลงการณ์นี้ทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าประเทศไทยยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ณ วันที่ 5 มิถุนายน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ซึ่งถูกกล่าวถึงในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ได้ออกมาโต้แย้งคำกล่าวอ้าง โดยระบุว่าเป็น “ข้อมูลเท็จ” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565
เพจเฟซบุ๊กของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ได้โพสต์คำชี้แจงโดยเขียนว่า: “ตามโพสต์ที่แชร์ทางสื่อออนไลน์ว่า พบโรค “ฝีดาษลิง” อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ไม่เป็นความจริง โดยได้ตรวจสอบแล้วมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จำนวน 1 ราย เป็นผู้ป่วยไข้มาลาเรีย สายพันธุ์ โนวไซ”
ข้อมูลจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคใต้กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไข้หวัดมาลาเรียชนิดโนวไซ เป็นโรคติดต่อจากลิงสู่คน โดยมียุงเป็นพาหะ
การแพร่เชื้อฝีดาษลิง
ไวรัสโรคฝีดาษลิงแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยมีโอกาสติดเชื้อในกรณีที่มีการสัมผัสกับผื่น สารคัดหลั่งจากร่างกาย ละอองทางเดินหายใจ หรือของเหลวที่ปนเปื้อนจากของใช้ของผู้ป่วย เช่นผ้าห่มหรือผ้าปูที่นอน
อาการป่วยที่บ่งชี้ว่าติดเชื้อ คือมีอาการปวดหัว ไข้หวัด หนาวสั่น เจ็บคอ ไม่สบาย อ่อนเพลีย ผื่นขึ้น และต่อมบวม
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและสมาคมโรคติดต่อแห่งประเทศไทย ระบุว่าระยะฟักตัวของโรคฝีดาษลิงอาจมีระยะยาวถึง 21 วัน
ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ว่า: “ถ้าพบว่ามีผื่นขึ้นชนิดผิดปกติ และมีไข้ แนะนำให้กักตัวให้เร็วที่สุด และให้เข้าพบแพทย์”
“ถ้าพบว่าติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ต้องแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบให้เร็วที่สุด” เขากล่าวเสริม
กราฟิกข่าว
การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่อยู่ในรายงานฉบับนี้ บนเว็บไซต์ของช่อง 7 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
รายงานดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการการกักตัวของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงของประเทศเบลเยียม
รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า: “เบลเยียม ออกมาตรการกักตัวผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” 21 วัน”
ในภาพถ่ายต้นฉบับ สัญลักษณ์ของช่อง 7 ปรากฏอยู่ที่มุมล่างขวาของภาพ

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ ของ AFP พบว่าทั้งสองภาพในกราฟิกข่าวของช่อง 7 ถูกแชร์ในบทความเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง โดยสำนักข่าว Reuters และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ
ณรัช ภัทรปุณณโชติ หัวหน้าบรรณาธิการของช่อง 7 ออนไลน์ อธิบายกับ AFP ในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ว่า: “ช่อง 7 ไม่เคยรายงานข่าวเกี่ยวกับการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศไทย”
ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565 AFP ไม่พบรายงานหรือแถลงการณ์ที่มีความน่าเชื่อถือเรื่องการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย