“กระเป๋าเป้ส้ม” เป็นการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กหูหนวกในประเทศจีน ไม่ใช่ประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 เวลา 08:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายที่แสดงเด็กสะพายกระเป๋าเป้สีส้มซึ่งถูกเผยแพร่มาเป็นเวลาหลายปีในโพสต์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทย ได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นจากโครงการด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวมาจากแคมเปญในประเทศจีนเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องเด็กหูหนวกสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยยังไม่มีโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีการใช้แถบเรืองแสงที่ติดอยู่บนกระเป๋าของนักเรียนที่มีความบกพร่องในการได้ยินในประเทศไทย
   

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงในเพจทางเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “ประชาสัมพันธ์ถึงทุกท่านที่ขับรถ เมื่อใดที่เห็นเด็กนักเรียนสะพายกระเป๋าหรือเป้สีส้ม กรุณาลดความเร็วด้วยครับ เพราะเป็นสัญลักษณ์บอกว่าเด็กผู้นั้นมีความบกพร่องการได้ยินหรือการฟัง”

“ขอบคุณครับด้วยความห่วงใยจากตำรวจทางหลวง ช่วยแชร์ต่อด้วยครับ”

โพสต์ดังกล่าวแชร์รูปของเด็กที่สะพายกระเป๋าสีส้ม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ทางเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2561 ที่นี่และนี่ และถูกนำกลับมาแชร์ใหม่ในปี 2563 และ 2565

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

แคมเปญการกุศลในประเทศจีน

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่ในบทความของเว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาโสตวิทยาแห่งประเทศจีน (Audiology Development Foundation of China) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแคมเปญ “กระเป๋าเป้สีส้ม”

เนื้อหาบางส่วนบนเว็บไซต์เขียนว่า: “แคมเปญนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นที่กรุงปักกิ่งในปี 2559 มีเป้าหมายในการบริจากกระเป๋าเป้สีส้มพร้อมสัญลักษณ์ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ใช้เป็นเด็กวัยเรียนที่มีความบกพร่องในการได้ยิน”

“เป้าหมายของแคมเปญคือการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางของสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องในการได้ยิน”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของมูลนิธิพัฒนาโสตวิทยาแห่งประเทศจีน (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของมูลนิธิพัฒนาโสตวิทยาแห่งประเทศจีน (ขวา)

จากภาพถ่ายของกระเป๋าเป้บนเว็บไซต์ ตัวอักษรภาษาอังกฤษบนกระเป๋าแปลเป็นภาษาไทยว่า “มูลนิธิพัฒนาโสตวิทยาแห่งประเทศจีน” และคำว่า“กระเป๋าส้ม” เป็นภาษาจีน

สื่อหลายสำนักในประเทศจีน เช่น China DailyCGTN และ People's Daily ได้เผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

ยังไม่มีในประเทศไทย

ตัวแทนของมูลนิธิสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องในการได้ยินของประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มีโครงการ “กระเป๋าส้ม” สำหรับเด็กหูหนวกในไทย

“ยืนยันได้ว่าโครงการกระเป๋าส้มยังไม่มีในประเทศไทยค่ะ” สายใจ สังขพันธ์ รองเลขาธิการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 โดยมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนกลุ่มคนที่มีปัญหาในการได้ยิน

เธออธิบายเพิ่มว่า “อย่างไรก็ตาม เรามีโครงการคล้ายๆ กันที่เด็กที่มีความปกพร่องในการได้ยิน จะมีสิทธิ์ได้รับกระเป๋าโรงเรียนที่มีแถบเรืองแสง”

“โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการสนับสนุนความเท่าเทียมของบุคคลที่มีปัญหาในการได้ยิน ด้วยการให้ผู้อื่นมองเห็นเด็กที่มีปัญหาในการได้ยินในพื้นที่สาธารณะ”

ศูนย์ตรวจสอบข่าวชัวร์ก่อนแชร์ของสำนักข่าวไทย MCOT ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวเกี่ยวกับกระเป๋าเป้สีส้ม เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา