
สารสกัดจากกัญชาไม่ใช่วิธีรักษาโรคมะเร็งที่ผ่านการรับรอง
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เวลา 09:33
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอเกี่ยวกับเกษตรกรปลูกกัญชา Rick Simpson ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 พร้อมข้อความด้านบนที่แปลเป็นภาษาไทยว่า: “THC คือสารฆ่ามะเร็ง”
ในคลิปวิดีโอดังกล่าว Simpson ซึ่งขายผลิตภัณฑ์กัญชา “น้ำมัน Rick Simpson” โดยแนะนำส่วนประกอบหลักของพืชกัญชา ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาท ว่าสามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด โดยเขาอธิบายว่าการบำบัดเกิดจาก “ผลของสารแคนนาบินอยด์ชนิดต่างๆ ที่ออกฤทธิ์ด้วยกัน”

คำกล่าวอ้างอื่นๆ ในบางโพสต์ทางเฟซบุ๊กระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งปิดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษามะเร็ง บางโพสต์ถูกนำเสนอเป็นคำให้การของบุคคลที่อ้างว่าตัวเองหายจากมะเร็งระยะสุดท้าย ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางคนได้แชร์งานวิจัยเรื่องการใช้กัญชาเป็นวิธีการรักษา
คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็งของ Rick Simpson ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทยที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุขกล่าวว่า คำกล่าวอ้างนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกสนับสนุน
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าสารสกัดจากกัญชา (cannabinoids) ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกว่าสามารถนำมาใช้เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามสารสกัดจากกัญชาบางชนิด เช่น dronabinol และ nabilone ผ่านการรับรองสำหรับการใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคมะเร็ง
“น้ำมันจากสาร CBD หรือ cannabidiol และสารสกัด THC เข้มข้น กำลังถูกนำมาส่งเสริมอย่างผิดกฏหมายว่ามีศักยภาพในการรักษามะเร็ง” NCI กล่าว “น้ำมันเหล่านี้ยังไม่ผ่านการทดสอบทางคลินิกสำหรับความสามารถในการต้านมะเร็งหรือในด้านความปลอดภัย”
สถาบันดังกล่าวอธิบายเพิ่มว่า บางส่วนของวิธีการรักษาดังกล่าวนี้ “อาจจะนำไปสู่ความเป็นพิษที่เพิ่มขึ้นหรือลดประสิทธิภาพ” ของยาบำบัดโรคมะเร็งที่ผ่านการรับรอง
หน่วยงานวิจัยมะเร็งของสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) มีข้อสรุปเดียวกันจากงานวิจัยในปัจจุบัน ข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรของประเทศอังกฤษ พบว่าสารสกัดจากกัญชาบางชนิดมีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ที่เกิดจากเคมีบำบัด แต่ยังมีหลักฐานที่จำกัด
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Cancer Research UK ระบุว่า “เรายังต้องมีการวิจัยเพิ่มเพื่อพิสูจน์ว่ากัญชาหรือสารเคมีในพืชกัญชาสามารถใช้รักษามะเร็งได้หรือไม่” “ต้องมีการทดลองทางคลินิกอีกจำนวนมาก เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยที่ได้รับและไม่ได้รับยา จากนั้นเราจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าวิธีการรักษาดังกล่าวใช้ได้จริงไหม ที่ผ่านมางานวิจัยหลายฉบับยังทำในวงแคบๆ และเป็นการทดลองในห้องแล็บ”
คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์ออนไลน์ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวในประเทศสหรัฐฯ ในการผลักดันเพื่อเปลี่ยนสถานะให้กัญชาเป็นของถูกกฎหมาย ทั้งการใช้ทางการแพทย์และเพื่อสันทนาการ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญระบุว่าข้อยกเว้นทางการแพทย์ของบางรัฐ ไม่ได้หมายความว่ากัญชาสามารถใช้รักษามะเร็งได้จริง
Timothy Rebbeck ศาสตราจารย์ด้านเนื้องอกวิทยาทางการแพทย์ที่สถาบันมะเร็ง Dana-Farber และคณาจารย์ที่โรงเรียนแพทย์ Harvard TH Chan School of Public Health ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “มันยังมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบรรเทาอาการว่ามีความเกี่ยวข้องกับผลของการบำบัด”
“ขณะนี้ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารประกอบกัญชา (cannabis compounds) ในการรักษาโรคมะเร็ง แต่ยังเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและยังไม่ใกล้จุดที่สามารถเรียกว่าได้ว่าเป็นการรักษา”
Rebbeck ระบุว่าสารสกัดหลายชนิดที่เหมือนจะมีศักยภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งจากการทดลองในห้องแล็บ แต่ยังถือว่าห่างไกลจากสถานะการรักษาที่ผ่านการรับรองทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องทดสอบเรื่องประสิทธิภาพในห้องแล็บ การทดลองในสัตว์และที่เข้มงวดที่สุดคือการทดลองในมนุษย์ ที่ต้องใช้ตัวอย่างเป็นวงกว้าง
“จำนวนยาที่ผ่านขั้นตอนการทดสอบถึงระดับยาที่ใช้ได้ในการรักษานั้นน้อยมาก” Rebbeck กล่าว “และในบรรดาสารประกอบจำนวนมากนั้น ไม่มีตัวไหน (ผ่านการทดสอบ) เลย”
เขาบอกว่าวิธีรักษาที่ยังไม่ผ่านการรับรอง อาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือมองข้ามกระบวนการที่มีโอกาสในการรักษาสำเร็จสูงกว่ามาก
วิธีการรักษามะเร็งจะอยู่บนพื้นฐานของภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) หรือการใช้ภูมิคุ้มกันของตนในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง และจากตัวเลขของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) โดยรวมแล้วอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจพบโรคมะเร็งที่รวดเร็วขึ้นและขั้นตอนการรักษาที่พัฒนาไปมาก
“ความก้าวหน้าของเราเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งนั้นมหัศจรรย์จริงๆ” Rebbeck กล่าว
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด เกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพของพืชกัญขาไปแล้วที่นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา