
วิดีโอจากปี 2564 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นคลิปการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในเดือนตุลาคม 2566
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 06:08
- อัพเดตแล้ว วันที่ 19 ตุลาคม 2023 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
“#อิสราเอล เพื่อตอบโต้การโจมตีอิสราเอล กองกำลังป้องกันอิสราเอลเริ่มถล่มเป้าหมายของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา - ดูให้จบ” โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023
วิดีโอดังกล่าวมียอดรับชมมากว่า 32,000 ครั้ง และแสดงให้เห็นอาคารแห่งหนึ่งถูกโจมตีทางอากาศ ก่อนจะถล่มลงมา
สัญลักษณ์ของสำนักข่าวต่างประเทศอัลจาซีราปรากฏอยู่ที่ด้านซ้ายบนของวิดีโอ

ประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนในจำเป็นต้องอพยพหนีออกจากกาซา หลังอิสราเอลได้เดินหน้าปฏิบัติการภาคพื้นดินเต็มรูปแบบด้วยการทิ้งระเบิดและส่งกำลังทหารไปประจำการในพื้นที่ฉนวนกาซา
การโจมตีด้วยระเบิดได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,670 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง การโจมตีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการตอบโต้ดังกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ด้วยการบุกยิง ทำร้าย และเผาผู้คนมากกว่า 1,400 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง
กลุ่มฮามาสจับตัวประกันไปราว 150 คนไปยังกาซาระหว่างการโจมตีครั้งแรก โดยตัวประกันเหล่านี้รวมถึงชาวอิสราเอล คนถือสองสัญชาติและชาวต่างชาติ รัฐบาลอิสราเอลกล่าว
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ใน X (ก่อนหน้านี้ชื่อทวิตเตอร์) ในสื่อสังคมออนไลน์ที่นี่ นี่ และ นี่ โดยอ้างอย่างผิดๆ ว่าเป็นเหตุการณ์โจมตีทางอากาศในเมืองกาซา
ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งได้โพสต์วิดีโอดังกล่าว พร้อมแสดงกำลังใจถึงคนไทยในฉนวนกาซา ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า มีคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจำนวน 24 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 16 คน (ลิงค์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวเป็นวิดีโอเก่าที่ถูกบันทึกไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564
วิดีโอเก่าจากปี 2564
จากการใช้การค้นหาด้วยคำสำคัญ และการค้นภาพถ่ายแบบย้อนหลังในกูเกิล AFP พบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ไว้ในช่องยูทูปของสำนักข่าวอัลจาซีราเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 (ลิงค์บันทึก)
"อิสราเอลโจมตีตึกที่ 3 ในฉนวนกาซา | AJ #วิดีโอสั้น" คำบรรยายใต้วิดีโอดังกล่าวระบุ
คำอธิบายของวิดีโอระบุว่า "นี่คือเหตุการณ์ที่อาคาร 14 ชั้นชื่ออัล-โชรูค ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของสำนักข่าวหลายแห่งในเมืองกาซา ถูกโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอล ก่อนอาคารจะถล่มลงมาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา [วันที่ 12 พฤษภาคม 2564]"

อัลจาซีรารายงานว่า ตึกอัล-โชรูคถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2538 เป็นหนึ่งในอาคารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในฉนวนกาซา (ลิงค์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอที่สำนักข่าวอัลจาซีราอัปโหลดไว้ในยูทูป (ขวา):

อิบราฮีม อาบู มุสตาฟา ช่างภาพจากสำนักกข่าวรอยเตอร์ ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่อาคารอัล-โชรูคกำลังถูกโจมตี โดยของเขามีลักษณะคล้ายกับวิดีโอของอัลจาซีรา (ลิงค์บันทึก)
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา