วิดีโอถ่ายทอดสดของนักข่าว CNN ในอิสราเอลถูกดัดแปลง โดยเพิ่มเสียงให้ดูเป็นวิดีโอที่ถูกจัดฉาก

ทีมข่าวของสำนักข่าว CNN ได้ลงพื้นที่รายงานความขัดแย้งในอิสราเอลและฉนวนกาซา ระหว่างการถ่ายทอดสด นักข่าวได้นอนหมอบราบกับพื้นริมถนนท่ามกลางเสียงจรวดที่ถูกยิง คลิปวิดีโอรายงานของ CNN ถูกดัดแปลงด้วยการเพิ่มเสียงลงไปและถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า CNN จัดฉากรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบ AFP ได้ตรวจสอบวิดีโอที่ถูกดัดแปลงและพบว่าต้นฉบับมาจากยูทูปช่องหนึ่งที่มักเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน นอกจากนี้ โฆษก CNN ปฏิเสธคำกล่าวอ้างและชี้แจงว่าวิดีโอดังกล่าวมี "การบิดเบือน"

"เหมือนสื่อไทย ขายข่าวแต่ไม่ขายความจริง วิธีการทำข่าวของ CNN สั่งให้ช่างภาพและนักข่าวทำเป็นวิ่งหลบการโจมตีของฮามาสราวกับว่าถูกซุ่มโจมตีนักข่าวทั้งๆที่เป็นเรื่องจัดฉากหลอกลวง" ผู้ใช้งาน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) เขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566

"ก็ยังมีคนเชื่อข่าวแบบนี้ไปครึ่งค่อนโลก ความมาแตกตอนลืมปิดไมค์เสียงบันทึกสั่งการเลยหลุดออกมาด้วย #สื่อไทย" โพสต์ดังกล่าวเขียนต่อ

บัญชีเอ็กซ์ (เดิมคือทวิตเตอร์) อย่างเป็นทางการบัญชีหนึ่ง ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 120,000 บัญชี ยังแชร์คลิปเดียวกัน ในภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยคลิปความยาว 1 นาที 34 วินาที แสดงให้เห็นคลาริสซา วอร์ด หัวหน้านักข่าวต่างประเทศของ CNN และทีมข่าวของเธอวิ่งไปหลบยังที่ปลอดภัย ขณะจรวดถูกยิงใกล้ชายแดนอิสราเอลและกาซา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เอ็กซ์ ที่แชร์วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 นักรบของกองกำลังติดอาวุธฮามาสจำนวนหลายร้อยคนเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหัน ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 2516

เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปนับหลายพันราย และจับตัวประกันได้อีกอย่างน้อย 222 คน (ลิงค์บันทึก)

ในวิดีโอ วอร์ดและทีมของเธอวิ่งหาที่หลบภัยระหว่างการโจมตีทางอากาศใกล้ฉนวนกาซา โดยกล้องของช่างวิดีโอยังคงบันทึกเหตุการณ์ขณะที่พวกเขากำลังหมอบหลบอยู่ริมถนน กล้องได้จับภาพของวอร์ดที่กำลังหายใจถี่ ขณะที่ชายอีกคนที่อยู่ด้านหลังวอร์ดกำลังใช้งานโทรศัพท์มือถือ

เสียงของชายคนหนึ่ง ซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเสียงของโปรดิวเซอร์ในสตูดิโอข่าว พูดกำกับทีมข่าวตลอดทั้งวิดีโอ

"…คุณคงเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้โล่งว่างแล้ว แต่ผมอยากให้คุณพาพวกเขาออกจากถนน ให้พวกเขานอนหมอบอยู่ริมถนน" เสียงดังกล่าวระบุ

"บอกตากล้องให้จับภาพคลาริสซาไว้ โอเค… มองไปรอบๆ เจอร์รี่ มองไปรอบๆ เหมือนว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตราย พยายามวางตัวให้ดูดีแต่ก็หวาดกลัว … โอเค เยี่ยม นี่แหละภาพเรียกคนดู"

วิดีโอและคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ และในภาษาอังกฤษที่นี่ นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างว่าทีมข่าว CNN จัดฉากการรายงานข่าวนั้นไม่เป็นความจริง

เสียงในวิดีโอถูกดัดแปลง

หลัง AFP ตรวจสอบวิดีโออย่างละเอียด พบว่าวิดีโอดังกล่าวมีโลโก้เขียนว่า "The Quartering" ปรากฏอยู่ที่มุมซ้ายบนของวิดีโอ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จที่แสดงให้เห็นโลโก้ของ The Quartering โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมที่โลโก้

องค์ประกอบนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในวิดีโอต้นฉบับที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNN

สำนักข่าว CNN ได้โพสต์วิดีโอต้นฉบับใน X ซึ่งเผยใ้หเห็นช่วงที่จอห์น เบอร์แมน ผู้ประกาศข่าวในสตูดิโอ ส่งต่อการรายงานไปยังวอร์ดที่กำลังหมอบหลบภัยอยู่ริมถนน (ลิงค์บันทึก)

"สวัสดี จอห์น" วอร์ดกล่าว "ขอโทษด้วยที่ตอนนี้ฉันไม่ได้รายงานในท่าทีที่สวยงามเท่าไหร่ แต่เราเพิ่งมีจรวดจำนวนหลายลูกยิงเข้ามาในบริเวณนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เราอยู่มากนัก เราจึงต้องหลบภัยอยู่ริมถนน" วอร์ดกล่าว ก่อนจะรายงานต่อ (ลิงค์บันทึก)

ส่วนอีกคลิปวิดีโอที่มีความยาวกว่าถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าว CNN โดยเผยให้เห็นการรายงานข่าวของทีมที่วิ่งไปตามท้องถนน ก่อนที่เสียงจรวดจะถูกยิงลงมาในบริเวณใกล้เคียง จนทำให้ทีมข่าวต้องหมอบลง (ลิงค์บันทึก)

ในวิดีโอต้นฉบับ ไม่พบว่ามีเสียงคนกำกับการรายงานข่าวให้กับทีมข่าวของ CNN

การค้นหาด้วยคำว่า "The Quartering" เผยให้เห็นช่องยูทูปที่ใช้ชื่อเดียวกัน โดยช่องดังกล่าวเผยแพร่วิดีโอที่ถูกดัดแปลงอยู่บ่อยครั้ง แต่มักเป็นคลิปที่มีความยาวกว่าและมียอดผู้ชมมากถึง 180,000 ครั้ง (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกดัดแปลง และถูกเผยแพร่ในช่องยูทูปชื่อ The Quartering

ช่องยูทูปดังกล่าวระบุในช่อง "เกี่ยวกับ" (About) ว่าสนใจเนื้อหา "ในอุตสาหกรรมเกม การ์ตูน และโลกทั่วไป"

การค้นหาเพิ่มเติมเผยให้เห็นว่าช่อง The Quartering เป็นของยูทูปเบอร์ชื่อเจเรมี่ แฮมบลีย์ ซึ่งมักสนับสนุนมุมมองจากฝ่ายขวาและทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด เจเรมี่มีสมาชิกติดตามช่องยูทูปของเขากว่า 1.5 ล้านคน (ลิงค์บันทึก)

AFP ได้ส่งอีเมล์ถึงโฆษกของ CNN ซึ่งตอบกลับว่า วิดีโอของแฮมบลีย์นั้นเป็นการ "ปลอมแปลง"

"เสียงในวิดีโอที่ถูกแชร์ในเอ็กซ์ นั้นถูกปลอมแปลง ไม่ถูกต้อง และบิดเบือนจากความเป็นจริงจากการถ่ายทอดสดทาง CNN อย่างไร้ความรับผิดชอบ ผู้ชมควรดูวิดีโอฉบับเต็มด้วยตนเองในช่องทางที่เชื่อถือได้" โฆษกของ CNN กล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา