ภาพธงสีดำเหนือศาสนสถานสำคัญในประเทศอิหร่าน ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างบิดเบือนในช่วงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

หลังเกิดเหตุโจมตีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฉนวนกาซาในเดือนตุลาคม 2566 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างว่า 'เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์' ที่อิหร่านชูธงสีดำเหนือศาลเจ้าอิหม่ามเรซา ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของประเทศ เพื่อ 'ประกาศสงคราม' กับอิสราเอล คำกล่าวอ้างดังกล่าวบิดเบือนจากข้อเท็จจริง แท้จริงแล้ว การชูธงสีดำนั้นจะกระทำอยู่เป็นประจำในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาและในช่วงไว้ทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับ AFP

"อิหร่าน มีการชักธงดำเหนือหลุมศพของ Razavi ในเมืองโคราซาน ประเทศอิหร่าน ตามประเพณีของอิหร่าน นี่หมายถึงการประกาศสงครามและการเรียกร้องให้แก้แค้น" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ นอกจากนี้ยังพบในภาษาอาหรับ ฝรั่งเศส และ สเปนอีกด้วย โดยบางโพสต์ (เช่นที่นี่ และ นี่) เขียนระบุว่านี่เป็น "ครั้งแรกในประวัติศาตร์" ที่มีการชูธงดำเหนือศาสนสถานสำคัญแห่งนี้

คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องหลังกองกำลังติดอาวุธฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยสังหารผู้คนอย่างน้อย 1,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน กองทัพอิสราเอลเผยว่า พบศพนักรบฮามาสราว 1,500 รายจากการต่อสู้ ก่อนที่กองทัพอิสราเอลสามารถยึดคืนการควบคุมพื้นที่ที่ถูกโจมตีได้ในบางส่วน

กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสซึ่งตั้งอยู่ในฉนวนกาซาแถลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 รายในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกโจมตี นับตั้งแต่อิสราเอลปฏิบัติการตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์โจมตีพลเรือนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล

ตั้งแต่การโจมตีครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ประเทศในโลกอาหรับได้รวมตัวกันประณามอิสราเอล ส่วนทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งต่างโทษว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ลงมือสังหารหมู่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบต้นเหตุของระเบิดและจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ในทันที

แม้ว่าประเทศอิหร่านจะสนับสนุนกลุ่มฮามาส แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศสงครามกับอิสราเอลแต่อย่างใด และศาลเจ้าอิหม่ามเรซามักชูธงสีดำในช่วงเวลาแห่งการสูญเสียเป็นปกติอยู่แล้ว

หลังเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอะฮ์ลี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา สำนักข่าวแทสนิมของอิหร่านได้โพสต์ใน X (ลิงค์บันทึก) ว่า มีการชักธงสีดำเหนือยอดโดมกลางของศาลเจ้าอิหม่ามเพื่อแสดงออกถึงเหตุโจมตีโรงพยาบาลดังกล่าว

รายงานอีกฉบับของสำนักข่าวแทสนิม (ลิงค์บันทึก) ระบุว่า รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศให้วันที่ 18 ตุลาคมเป็นวันแห่งการไว้ทุกข์ต่อสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า "การสังหารหมู่และอาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติ"

อย่างไรก็ตาม การชูธงเหนือยอดโดมของศาลเจ้าอิหม่ามเรซาไม่ได้แสดงถึงการ "ประกาศสงคราม" หรือ "เรียกร้องการแก้แค้น" แต่อย่างใด และการชูธงดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเทศกาลสำคัญและช่วงเวลาไว้ทุกข์

สัญลักษณ์แห่งการไว้ทุกข์

"จริงๆ แล้ว ธงสีดำไม่ได้เป็นการประกาศสงคราม แต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการไว้ทุกข์" ปิแอร์ ปาห์ลาวี รองผู้อำนวยการของคณะวิชาการป้องกันประเทศ วิทยาลัยการทหารของแคนาดา กล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566

"โดยปกติ จะมีการชักธงสีดำขึ้นสู่ยอดเสาของศาลเจ้าอิหม่ามเรซา ทุกปีในวันอาชูรออ์ (วันสำคัญของศาสนาอิสลาม) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแห่งการไว้อาลัย และระลึกถึงการก่อตั้งนิกายชีอะห์ในศาสนาอิสลาม" ปิแอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน กล่าวกับ AFP

เธียร์รี โควิลล์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ในฝรั่งเศส กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ว่า ปกติแล้ว "จะมีการชักธงสีดำขึ้นในมัสยิด และมีการโบกธงในขบวนแห่ในพิธีมุฮัรรอม ซึ่งถือว่าเป็นพิธีกรรมที่อิหร่านรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุสเซน"

สื่อของอิหร่านมักจะรายงานเกี่ยวกับพิธีดังกล่าวอยู่เป็นประจำ (ลิงค์บันทึก) และภาพถ่ายในแผนที่กูเกิลได้แสดงให้เห็นธงสีดำบนโดมของศาลเจ้าอิหม่ามเรซา (ลิงค์บันทึก)

ประเทศอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสมายาวนาน และเตือนอิสราเอลอยู่หลายครั้งว่า การรุกรานฉนวนกาซาทางภาคพื้นดินอาจนำไปสู่การโจมตีตอบโต้ในด้านอื่นๆ และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับภูมิภาค

"เจ้าหน้าที่อิหร่านชื่นชมการกระทำของกลุ่มฮามาส แต่ในขณะเดียวกันก็แถลงว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการโจมตีครั้งนี้" โควิลล์กล่าว

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งสามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา