วิดีโอจากอินเดียและไนจีเรียถูกนำไปแชร์อย่างผิดๆ ว่าเป็นเหตุการณ์หลังฮามาสโจมตีอิสราเอล

  • เผยแพร่ วัน 2 พฤศจิกายน 2023 เวลา 06:32
  • อัพเดตแล้ว วัน 2 พฤศจิกายน 2023 เวลา 07:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
  • แปลและดัดแปลง โดย Panisa AEMOCHA
หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยมีพลเมืองมากกว่า 220 คนถูกจับเป็นตัวประกัน และทำให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ได้มีคลิปวิดีโอหนึ่งถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ ว่าเป็นภาพเหตุการณ์ความโกลาหลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ อย่างไรก็ตามวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากเทศกาลทางศาสนาในอินเดียและเหตุรถบรรทุกน้ำมันระเบิดในไนจีเรีย

ข้อความที่ปรากฏในวิดีโอในโพสต์เท็จในติ๊กตอกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมระบุว่า: "อิสราเอลหนีตายออกจากประเทศด่วน เวลาหนีตาย อะไรก็เอาไปไม่ได้ ฝากไว้ให้คิด"

วิดีโอดังกล่าวแสดงภาพฝูงชนจำนวนมากที่เบียดเสียดกันอยู่บนท้องถนน บางคนถูกผลักไปด้านหน้าและด้านข้าง ก่อนที่วิดีโอดังกล่าวจะตัดไปแสดงภาพเหตุการณ์ระเบิดขนาดใหญ่บนถนนที่เต็มไปด้วยรถ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม อิสราเอลระบุว่านักรบฮามาสได้สังหารผู้คนไปแล้วกว่า 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง นอกจากนี้ ราว 220 คนยังถูกจับเป็นตัวประกัน

ประชาชนมากกว่า 8,000 รายเสียชีวิตจากปฏิบัติการตอบโต้ของกองทัพอิสราเอล โดยผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเด็ก กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสระบุ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกเผยแพร่ในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ และในภาษาพม่าที่นี่ นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

เทศกาลในอินเดีย

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล AFP พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์ในยูทูป ซึ่งระบุว่าวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายจากเทศกาลแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย

วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 โดยมีชื่อหัวข้อว่า "Baripada, ratha yatra 2023" ซึ่งอ้างอิงถึงการเฉลิมฉลองในเทศกาลรถะ ยาตรา (Ratha Yatra) ในเมืองบารีปาดา (Baripada) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย

รถะ ยาตรา เป็นหนึ่งในเทศกาลประจำปีทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย โดยเหล่าชาวฮินดูจะลากรถม้าที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราและมีเทพเจ้าประดิษฐานอยู่ไปตามท้องถนน

เทศกาลรถะ ยาตรา ในเมืองบารีปาดา จัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2566 โดยมีความเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองคือ หญิงชาวฮินดูจะสามารถลากรถม้าได้เช่นเดียวกับชายชาวฮินดู (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในยูทูป (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในยูทูป (ขวา)

นอกจากนี้ ภาพสตรีทวิวของกูเกิลยังยืนยันได้ว่า วิดีโอดังกล่าวแสดงภาพจากเมืองบารีปาดา (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอยูทูป (ซ้าย) และภาพสตรีทวิวจากกูเกิล (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อระบุองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน:

Image
เปรียบเทียบระหว่างวิดีโอที่ถูกแชร์ในยูทูป (ซ้าย) และภาพสตรีทวิวจากกูเกิล (ขวา)

คาลิงกา ทีวี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ในรัฐโอฑิศา (Odisha) ในภาคตะวันออกของอินเดีย ได้เผยแพร่การรายข่าวไว้ในบัญชียูทูปของช่องเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนเช่นกัน โดยรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นรถม้า ณ นาทีที่ 1.02 ซึ่งเป็นรถม้าคันเดียวกันกับที่เห็นโพสต์เท็จ (ลิงค์บันทึก)

รถบรรทุกน้ำมันระเบิดในไนจีเรีย

การค้าหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล พบวิดีโอที่แสดงภาพเปลวไฟลุกโชนข้างถนนซึ่งคล้ายกับวิดีโอในโพสต์เท็จ โดยวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวของไนจีเรียอย่าง TrustTV เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม (ลิงค์บันทึก)

วิดีโอมีชื่อว่า "เหตุรถบรรทุกน้ำมันระเบิดในเมืองออนโด: คนเสียชีวิต 8 รายขณะพยายามตักน้ำมันที่รั่วไหลบนทางด่วนโอเร เบนิน"

คำบรรยายวิดีโอยังระบุเพิ่มว่า "เหตุระเบิดเกิดขึ้นตอนคนรีบเข้าไปตักน้ำมันที่รั่วไหลออกจากรถบรรทุกน้ำมันที่ไถลออกจากถนนและตกจากทางด่วน'

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของสำนักข่าว TrustTV (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของสำนักข่าว TrustTV (ขวา):

การเข้าไปเก็บน้ำมันจากอุบัติเหตุรถยนต์ในไนจีเรียครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย โดยสำนักข่าวไนจีเรียส์การ์เดียนรายงานว่า หลังประธานาธิบดีโบลา ทินูบู ตัดเงินอุดหนุนน้ำมันเบนซิน และส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน (ลิงค์บันทึก)

ภาพที่เห็นในวิดีโอสอดคล้องกับภาพจากแผนที่กูเกิลของทางด่วนเส้นดังกล่าวในเมืองออนโด ประเทศไนจีเรีย (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจากแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อระบุองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน:

Image
ภาพบันทึกหน้าจอเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ที่เห็นในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจากแผนที่กูเกิล (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา