วิดีโอการประท้วงคำสั่งล็อกดาวน์ในประเทศจอร์แดน ถูกนำกลับมาแชร์ว่าเป็นวิดีโอการแห่ศพปลอมในฉนวนกาซา

ประชาชนหลายพันคนถูกสังหารหลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ความขัดแย้งดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดข้อมูลเท็จจำนวนมาก รวมถึงคำกล่างอ้างเท็จที่เกี่ยวกับการจัดฉากศพหรือแกล้งบาดเจ็บในฉนวนกาซา เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอคลิปหนึ่ง พร้อมระบุว่าเป็นภาพกลุ่มฮามาสจัดฉากแห่ศพปลอม อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้ในเดือนมีนาคม 2563 และเป็นวิดีโอการประท้วงต่อต้านคำสั่งล็อกดาวน์ระหว่างช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศจอร์แดน

"ฮามาสแห่ศพฟ้องชาวโลก #อิสราเอล #ปาเลสไตน์" โพสต์ติ๊กตอกโพสต์หนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 พร้อมกับแชร์วิดีโอที่มีความยาว 28 วินาที

วิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นคนกลุ่มหนึ่งอุ้มร่างคนคลุมด้วยผ้าสีขาวและนอนอยู่บนเปลหาม เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้น คนกลุ่มนั้นก็ทิ้งเปลหามลงและวิ่งหนีไป

คนที่นอนอยู่บนเปลได้สลัดผ้าคลุมสีขาวออกและวิ่งหนีออกไปเช่นกัน

มีคนมากดถูกใจโพสต์ดังกล่าวมากกว่า 25,000 ครั้งและมียอดแชร์กว่า 3,200 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จคล้ายๆ กันในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ และภาษาฝรั่งเศสและภาษากรีก

คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสแพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสปะทุขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับ "นักแสดง" (crisis actors)

กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซาเข้าสู่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,400 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นพลเมือง และจับตัวประกันได้มากกว่า 240 คน ทางการของอิสราเอลระบุ (ลิงค์บันทึก)

ปฏิบัติการตอบโต้ของกองทัพอิสราเอลได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 10,800 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก รายงานของกระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซาซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุ

ประท้วงช่วงโควิด-19

AFP พบวิดีโอที่คล้ายกันถูกแชร์ในยูทูปตั้งแต่ปี 2563 โดยคำบรรยายชี้ว่าเป็นวิดีโอที่ถูกถ่ายในประเทศจอร์แดน

จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังใน Yandex ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหาของรัสเซีย AFP ได้พบคลิปวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ทางยูทูป โดยชื่อวิดีโอเขียนเป็นภาษาอาหรับว่า "จอร์แดนบังคับใช้เคอร์ฟิววันที่ 3 แล้วเรื่องฮาๆ ก็เกิดขึ้น" โดยคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในยูทูปในปี 2563 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในยูทูปในปี 2563 (ขวา)

วิดีโอที่คล้ายกันนี้ยังถูกแชร์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ในบัญชียูทูปของสถานีโทรทัศน์ชื่อ Orient News ซึ่งรายงานในภาษาอาหรับว่า วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็น "การแห่ศพปลอมในจอร์แดนเพื่อต่อต้านการบังคับใช้เคอร์ฟิว" (ลิงค์บันทึก)

สำนักข่าวอัลโรยา ซึ่งเป็นมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 (ลิงค์บันทึก)

เนื้อหาบางส่วนของบทความระบุว่า "จะเห็นว่า คนกลุ่มหนึ่งพยายามฝ่าฝืนคำสั่งที่รัฐบาลจอร์แดนกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา"

นอกจากนี้ โรยานิวส์ สื่อภาษาอังกฤษที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจอร์แดน ได้โพสต์วิดีโอที่คล้ายกันในเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 (ลิงค์บันทึก)

นอกจากนี้ โรยานิวส์ยังได้แชร์บทความรายงานการจับกุมพลเมืองหลายร้อยคนที่ฝ่าฝืนกฏหมายป้องกันโรคระบาดในในประเทศจอร์แดน (ลิงค์บันทึก)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อสังคมออนไลน์แชร์วิดีโอดังกล่าวอย่างขาดบริบท และอ้างอย่างผิดๆ ว่าเชื่อมโยงกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบวิดีโอเดียวกันในปี 2564 ซึ่งสามารถอ่านรายงานได้ที่นี่

ติดตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา