
วิดีโอทหารอิรักต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในปี 2557 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า 'นักรบฮามาสถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิต'
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 04:07
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำเตือน: วิดีโอในบทความนี้มีเนื้อหารุนแรง
ผู้ใช้งาน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) ได้แชร์วิดีโอที่มีความยาว 16 วินาทีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 โดยเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทยว่า "กลุ่มฮามาสยิงต่อสู้กับทหารอิสราเอล เจอยิงสวนตาคาที่"
วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นทหารในเครื่องแบบกลุ่มหนึ่งหลบอยู่หลังแนวกำแพงดิน โดยทหารคนที่ยืนอยู่ยิงใส่ฝ่ายตรงข้าม ก่อนเขาจะถูกยิงที่ศีรษะ
วิดีโอดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังนักรบฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และคร่าชีวิตผู้คนไปราว 1,200 ราย และจับตัวประกันได้อย่างน้อย 240 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ทางการอิสราเอลระบุ
อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและทางบกในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 11,200 ราย รวมถึงเด็ก 4,630 ราย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาส
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาไทย อังกฤษ ฮินดี และ ตุรกี
อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 วิดีโอดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2557 และแสดงภาพการต่อสู้ระหว่างทหารอิสราเอลกับกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในประเทศอิรัก
การรบในอิรัก ปี 2557
จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ AFP พบวิดีโอที่คล้ายกันถูกอัปโหลดไว้ในเว็บไซต์หนึ่ง (ลิงค์บันทึก)
"หนึ่งใน 'ผู้พิทักษ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์' ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)" คำบรรยายระบุในภาษาเปอร์เซีย
คำว่า "ผู้พิทักษ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์" มักใช้กล่าวถึงทหารในนามของอิหร่าที่รบในประเทศซีเรียและอิรัก
การค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิลเพิ่มเติมยังพบวิดีโอเดียวกันในฉบับที่ยาวกว่าถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวตุรกีชื่อ Cumhuriyet เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 (ลิงค์บันทึก)
“นี่คือเหตุการณ์ที่กลุ่มไอเอสยิงทหารอิรัก” พาดหัวข่าวระบุในภาษาตุรกี
สำนักข่าว Cumhuriyet รายงานว่า วิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายไว้ได้โดยทหารชาวอิรักคนหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นภาพการเสียชีวิตของเพื่อนทหารที่ถูกกลุ่มไอเอสยิงระหว่างการต่อสู้ในเมืองฟัลลูจาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงแบกแดด เมืองหลวงของประเทศอิรัก
ในช่วงปลายปี 2556 และ 2557 กลุ่มไอเอสได้ขยายอิทธิพลจากซีเรียเข้าไปยังอิรัก โดยยึดเมืองฟัลลูจาห์ไว้ได้ ก่อนจะประกาศสถาปนา "คอลิฟะห์" หรือรัฐอิสลามขึ้น (ลิงค์บันทึก) เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความรุนแรงและการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ AFP รายงานว่า ชาวอิรักที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างน้อย 100,000 คนจำเป็นต้องอพยพหนีออกนอกประเทศ (ลิงค์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับบทความของสำนักข่าว Cumhuriyet ที่เผยแพร่วิดีโอดังกล่าวในปี 2557 (ขวา):
คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวอื่นๆ ในประเทศตุรกีในเดือนตุลาคม 2557 เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่ (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สามารถอ่านรายงานของเราได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา