ผู้นำกลุ่มฮามาสไม่ได้ขึ้นหน้าปกนิตยสารฟอร์บส์

ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสยังถูกแชร์อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ในเดือนพฤศจิกายนภาพของผู้นำกลุ่มฮามาส 2 คน ได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่านี่คือหน้าปกนิตสารฟอร์บส์ฉบับใหม่ และผู้นำกลุ่มฮามาสกลายเป็นมหาเศรษฐีหลักพันล้านฯ จากภาวะสงคราม ฟอร์บส์ยืนยันกับ AFP ว่า ภาพหน้าปกดังกล่าวไม่ใช่ของจริง ขณะที่องค์ประกอบต่างๆ ในโพสต์เท็จสามารถระบุได้ว่าเป็นภาพที่ถูกดัดแปลง

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เท็จ ที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน เขียนว่า: "นิตยสาร forbes รายงานว่าหัวหน้ากลุ่ม ฮามาสมีทรัพย์สิน 5,000ล้าน [ดอลลาร์สหรัฐฯ]"

โพสต์ดังกล่าวเขียนต่อเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า: "ขอแสดงความยินดีกับผู้นำฮามาส คาเล็ด เมชาอัล ที่มีความมั่งคั่งแตะ 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนของเขาอยู่ภายใต้เส้นความยากจน"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

โพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพหน้าของคาเล็ด เมชาอัล บนปกฟอร์บส์ พร้อมข้อความที่ระบุว่าเขามีความมั่งคั่งกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความสัมพันธ์กับอาชญากรรม

เมชาอัลคืออดีตผู้นำกลุ่มฮามาสที่ลาออกจากตำแหน่งประธานโปลิตบูโรในปี 2560 อย่างไรก็ตามเขายังคงมีอิทธิพลต่อกลุ่มอยู่ และถูกจัดให้เป็นบุคคลสำคัญในวงของฮามาสที่มีแนวคิดหัวรุนแรง

โพสต์ที่ใกล้เคียงกันนี้ยังถูกแชร์ในภาษาต่างประเทศทั้งภาษาเยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น เวียดนาม และเปอร์เซีย

ยังมีโพสต์เท็จที่อ้างถึงอดีตผู้นำกลุ่มฮามาสอีกคนหนึ่งอย่าง อิสมาอิล ฮานิเยห์ โดยเป็นภาพหน้าปกฟอร์บส์ปลอมที่อ้างว่าเขามีแหล่งทุนจากกิจกรรมผิดกฎหมายทำให้เขามีมูลค่าความมั่งคั่งสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฮานิเยห์ คือผู้นำด้านการเมืองของกลุ่มฮามาสตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในฐานะผู้ "เนรเทศตัวเองโดยสมัครใจ (voluntary exile)" โดยแบ่งเวลาอยู่ในประเทศตุรกีและการ์ตา

โพสต์หนึ่งในภาษาอินโดนีเซียแชร์ภาพของฮานิเยห์บนเอ็กซ์รพร้อมระบุว่า: "ตอนนี้กลายเป็นนายแบบปกนิตยสารไปแล้ว"


Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566

นักรบฮามาสจู่โจมพื้นที่อิสราเอลทางตอนใต้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนนำไปสู่ตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 1,200 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นพลเมือง นอกจากนี้ยังมีตัวประกันราว 240 คน ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐของอิสราเอล

รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้กลับโดยพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ฉนวนกาซา และสังหารประชาชนไปมากกว่า 14,100 คน ซึ่งโดยมากเป็นเพียงพลเมืองธรรมดา ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่มีฮามาสเป็นผู้ปกครอง

บัญชีของกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลยังแชร์ภาพปกนิตยสารฟอร์บส์ปลอมในภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่

สถานทูตอิสราเอลในเยอรมันโพสต์ภาพปกนิตยสารปลอมที่นี่ และ นี่ เช่นเดียวกันบัญชีสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศออสเตรียก็ได้เผยแพร่ภาพเหล่านี้ และทำให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์เข้ามาแชร์ต่ออีกนับพันๆ ครั้ง

กระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลระบุในโพสต์หนึ่งบนเอ็กซ์ว่าหน้าปกเท็จเหล่านี้คือ "การเสียดสีและเป็นภาพประกอบ" (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์จากกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอล บันทึกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์จากกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลในโพสต์ของ อิสมาอิล ฮานิเยห์ บันทึกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

 

 


อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากเชื่อว่าภาพผู้นำกลุ่มฮามาสทั้งสองคนเป็นของจริง

ผู้ใช้งานคนหนึ่งระบุว่า: "พ่อค้าความตาย ขายเพื่อนร่วมชาติ"

ขณะที่ผู้ใช้งานอีกคนหนึ่งระบุว่า: "คือ มันเอาเงินที่จะพัฒนาไปเข้ากระเป๋ามัน ใช้ชีวิตสบายทั้งตระกูลในต่างแดน ครอบครัวมันก็สบายในเมืองนอก"

ไม่ใช่หน้าปกนิตยสารจริง

นิตยสารฟอร์บส์กล่าวกับ AFP ว่า ภาพหน้าปกทั้งสองภาพเป็นของปลอม บิล แฮงเคอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารเขียนในอีเมลเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยระบุว่าภาพที่ถูกเผยแพร่ในโพสต์ต่างๆ มีองค์ประกอบที่ไม่ปกติ ที่ไม่ใช่ปกจริงของนิตยสาร (ลิงก์บันทึก)

Klaus Fiala บรรณาธิการบริหารของนิตยสารฟอร์บส์ภาษาเยอรมัน ยังกล่าวในอีเมลว่า: "ฉันยืนยันได้ว่าไม่มีปกนิตยสารฟอร์บส์ดังกล่าวเผยแพร่ในภาคภาษาเยอรมัน" (ลิงก์บันทึก)

เว็บไซต์ฟอร์บส์เผยแพร่นิตยสารฉบับสำเนาภาคภาษาอังกฤษ โดยไม่มีฉบับใดที่แสดงให้เห็นภาพของผู้นำฮามาสทั้งสองคน (ลิงก์บันทึก)

นิตยสารฉบับล่าสุดเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นภาพของผู้ก่อตั้งเมตา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ฟอร์บส์ที่แสดงให้เห็นนิตยสารฉบับสำเนา บันทึกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

AFP พบว่าภาพปกนิตยสารปลอมมีหลายองค์ประกอบที่ไม่สอดคล้องกับปกนิตยสารฟอร์บส์ฉบับจริง ด้านบนของปกนิตยสารฟอร์บส์ฉบับจริงนั้นมักจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ในนิตยสาร แต่ในปกนิตยสารปลอมเขียนว่า: "ฉบับพิเศษกับนักโกหกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก"

วันที่ตีพิมพ์ระบุว่า: "ตุลาคม 07, 2023" อย่างไรก็ตามรูปแบบของฟอร์บส์ฉบับจริงจะไม่ใส่เลขศูนย์กับวันที่ที่น้อยกว่า 10

แม้ว่าภาพปกฟอร์บส์ฉบับปลอมจะมีการใส่บาร์โค้ดไว้ที่มุมขวาด้านล่าง แต่นิตยสารฟอร์บส์ปัจจุบัน ไม่มีการใส่บาร์โค้ด

ภาพปลอมยังมีข้อผิดพลาด บนปกของเมชาอัล มีคำหนึ่งหายไปจากประโยค: "Tips and tricks for destruction (of) your own country." ขณะที่บนปกของฮานิเยห์ คำว่า "From" และ "Who" ถูกเขียนด้วยอักษรที่ต่างจากที่ฟอร์บส์ใช้

ด้านล่างคือภาพเปรียบเทียบระหว่างปกนิตยสารฟอร์บส์ปลอม (ซ้ายและกลาง) และปกนิตยสารฟอร์บส์ฉบับจริง (ขวา):


Image
เปรียบเทียบระหว่างปกนิตยสารฟอร์บส์ของปลอม (ซ้ายและกลาง) และปกนิตยสารฟอร์บส์ฉบับจริง (ขวา)

สื่อกระแสหลักเคยรายงานความมั่งคั่งของกลุ่มผู้นำฮามาสไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงนี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่) ด้านรายงานจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ระบุว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส "ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา" (ลิงก์บันทึก)

ความมั่งคั่งของทั้งเมชาอัลและฮานิเยห์ไม่ได้ถูกจัดอันดับอยู่ในรายชื่อเศรษฐีพันล้านตามเวลาจริงของฟอร์บส์ อย่างไรก็ตาม AFP ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้อย่างอิสระ (ลิงก์บันทึก)

ในพื้นที่ฉนวนกาซา ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีงานทำ และมากกว่าสองในสามของผู้คนมีชีวิตอยู่ด้วยความช่วยเหลือ ตามข้อมูลจากธนาคารโลก

AFP ตรวสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลเท็จในประเด็นสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา