
วิดีโอจากเทศกาลคาทอลิกในโปรตุเกสถูกกล่าวอ้างเท็จว่าคือ 'เหยื่อพลัดถิ่นจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส'
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 06:49
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอความยาว 30 วินาที ถูกแชร์บนติ๊กตอก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 และมีผู้รับชมแล้วกว่า 319,000 ครั้ง
ข้อความบนคลิปวิดีโอ ระบุว่า: "คลิปนี้ขอไม่มีคำบรรยายนะคะ ให้ภาพบอกเล่าความรู้สึกที่มี" ขณะที่คำบรรยายคลิปดังกล่าวยังแนบแฮชแท็กที่เชื่อมโยงไปยังสงครามในกาซา อาทิ "#ข่าวอิสราเอล #ข่าววันนี้ #อิสราเอล #ปาเลสไตน์ #ฉนวนกาซา #อิสราเอลvsปาเลสไตล์"

วิดีโอนี้ถูกโพสต์ไม่นานหลังวันที่ 7 ตุลาคม ที่กลุ่มนักรบฮามาสข้ามมาก่อเหตุโจมตีในพรมแดนของอิสราเอล โดยจากข้อมูลของฝั่งอิสราเอล กลุ่มฮามาสจับตัวประกันราว 240 คน และสังหารประชาชนอีกกว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง
กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส เผยว่าการตอบโต้ของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตในกาซากว่า 14,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กมากกว่า 5,800 ราย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ประชากรมากถึง 1.7 ล้านคน จากประชากรในฉนวนกาซาทั้งหมด 2.4 ล้านคน ต้องอพยพออกจากบ้านที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ เพียงเพื่อจะมาเผชิญหน้ากับวิกฤตทางมนุษยธรรมทางตอนใต้ที่ซึ่งอาหารและน้ำมีไม่เพียงพอ
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์บนติ๊กตอกพร้อมคำกล่าวอ้างว่า "ประชาชนนับล้านไร้ที่อยู่" และยังถูกแชร์ในภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งคอมเมนต์ใต้วิดีโอเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อว่านี่คือาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นจากกาซาจริง
"วิธีที่พวกเขานอนเลวร้ายกว่าอยู่ในคุกอีก" ผู้ใช้งานคนหนึ่งระบุ
ผู้ใช้งานอีกรายระบุว่า: "หวังว่าทุกคนจะปลอดภัย"
อย่างไรก็ตาม การค้นหาภาพย้อนหลัง พบว่าวิดีโอต้นฉบับถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ก่อนสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสเริ่มขึ้นถึงสองเดือน โดยเป็นจากเทศกาลทางศาสนาในประเทศโปรตุเกส
วันเยาวชนโลก
การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมจากวิดีโอในโพสต์เท็จ พบคลิปวิดีโอของผู้ใช้งานที่ชื่อว่า "Solo Catacumenos" คลิปดังกล่าวเผยแพร่ทั้งทางติ๊กตอกและยูทูป ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2566 (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)
คลิปต้นฉบับเป็นวิดีโอความยาว 16 วินาที สะท้อนว่าวิดีโอในโพสต์เท็จถูกทำให้ช้าลง
คำบรรยายวิดีโอต้นฉบับที่เขียนด้วยภาษาสเปน แปลเป็นไทยได้ว่า: "นี่คือวิธีที่คนหนุ่มสาวราว 1.5 ล้านคน ใช้ในการนอนใน #ลิสบอน" คำบรรยายวิดีโอยังใส่แฮชแท็ก "วันเยาวชนโลก 2566" และ "โป๊ปฟรานซิส" ในภาษาสเปน
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และคลิปต้นฉบับจากบัญชียูทูป Solo Catacumenos (ขวา):

วันเยาวชนโลกเป็นการเฉลิมฉลองความเชื่อทางนิกายโรมันคาทอลิก ของศาสนาคริสต์ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน โดยจัดขึ้นทุกสองถึงสามปี (ลิงค์บันทึก)
สื่อคาทอลิกรายงานว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่กรุงลิสบอนสูงถึง 350,000 คน โดยงานในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ถึง 6 สิงหาคม 2566 และมีผู้เข้าร่วมงานในวันสุดท้ายที่มีพระสันตะปาปาฟรานซิสร่วมเป็นประธานมากถึง 1.5 ล้านคน (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
การใช้เครื่องมือค้นหาภาพย้อนหลังเพิ่มเติม พบภาพถ่ายบนเว็บไซต์ภาพถ่ายอย่าง Getty Images ที่มีลักษณะตรงกับคลิปวิดีโอ (ลิงค์บันทึก)
ภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดย มิเกล เอ. โลเปซ พร้อมคำบรรยายภาพที่ระบุว่า: "สิงหาคม 6: นักแสวงบุญพักผ่อนก่อนเข้าร่วมงานวันเยาวชนโลกวันสุดที่มีโป๊ปฟรานซิสเป็นประธาน ณ สวนเทโจ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ณ ลิสบอน โปรตุเกส"
โลเปซ ซึ่งเป็นช่างภาพภายใต้ Lusa News Agency และประจำอยู่ที่โปรตุเกส กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ว่าเขา "ถ่ายภาพนี้ีตอนที่โป๊ปมาเยือนโปรตุเกส"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Getty Images (ขวา) โดยมีการเพิ่มลักษณะคล้ายคลึงกันโดย AFP:

คำบรรยายภาพจาก Getty Images และข้อมูลจากเว็บไซต์วันเยาวชนโลกระบุว่างานในวันที่ 6 สิงหาคม จัดขึ้นที่สวน Tejo-Trancão ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส (ลิงค์บันทึก)
ภาพถ่ายของสวนดังกล่าวที่ถูกอัปโหลดขึ้นแผนที่กูเกิลในเดือนสิงหาคม 2566 แสดงให้เห็นแสงไฟที่คล้ายคลึงกัน (ลิงค์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอของนักแสวงบุญ (ซ้าย) และภาพจากแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ได้ระบุองค์ประกอบภาพที่ตรงกัน:

AFP ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นนภาพจากเทศกาลคาทอลิกในลิสบอนถูกเชื่อมโยงกับสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่นี่ และประเด็นข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา