วิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในเลบานอนถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาสร้างสถานการณ์

วิดีโอของเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังแต่งหน้าและทาเลือดปลอม โดยมีผู้คนโบกธงปาเลสไตน์อยู่รอบๆ ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นภาพประชาชนในฉนวนกาซาแกล้งบาดเจ็บในช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวเป็นภาพเบื้องหลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในประเทศเลบานอน โดยผู้กำกับระบุว่า เขาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเพื่อนำเสนอเหตุการณ์สงครามผ่านมุมมองทางศิลปะ

"เบื้องหลังการถ่ายทำของชาวปาเลสไตน์ เมคเกี่ยวกับเด็กและสตรี ก่อนออกสู่สายตาชาวโลก ... ยังมีอีกเยอะครับคลิปแหกตาชาวโลกเชื่อสนิท กับอิสราเอลเรื่องจริงต่อต้านกันเอาเป็นเอาตาย" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทย พร้อมทั้งแชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่มีความยาว 55 วินาที

คลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่บนเปลหาม โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอาการบาดเจ็บของเธอ ต่อมา วิดีโอแสดงให้เห็นภาพการประท้วงและสถานการณ์ในช่วงสงครามที่เหมือนจะถูกจัดฉากขึ้น เด็กผู้หญิงคนเดียวกันนี้ได้รับการแต่งหน้า มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม และดูเหมือนจะไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ใน X ซึ่งถูกรีโพสต์มากกว่า 552 ครั้งและได้รับการกดถูกใจมากกว่า 560 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และ สเปน โดยคำกล่าวอ้างนั้นเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ "Pallywood" ซึ่งเป็นการรวมคำว่า "Hollywood" กับ "Palestine" เข้าด้วยกัน เพื่อสื่อถึงวิดีโอหรือภาพถ่ายที่เชื่อว่าจัดฉากขึ้นเพื่อทำให้สถานการณ์ดูยากลำบากเกินจริงหรือเรียกความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มกำลังติดอาวุธฮามาสได้บุกโจมตีในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ผู้คนอีกอย่างน้อย 240 รายถูกจับเป็นตัวประกันและถูกนำตัวกลับไปยังฉนวนกาซา ทางการของอิสราเอลระบุ

อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะ "ขยี้" กลุ่มฮามาส โดยการปฏิบัติการทางอากาศและภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอลได้สังหารผู้คนไปแล้ว 12,000 ราย รวมถึงเด็กจำนวน 5,000 คน จากข้อมูลของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ระบุโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาส

สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกเต็มไปด้วยโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามนองเลือดในอิสราเอลและฉนวนกาซา แม้ว่าจะมีการแชร์ภาพจากเหตุการณ์จริง แต่ AFP พบว่าภาพอื่นๆ หลายภาพถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นการจัดฉากหรือสร้างสถานการณ์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

แม้ว่าวิดีโอดังกล่าวจะไม่ได้แสดงเหตุการณ์จากสงครามจริง แต่ก็ถูกนำเสนอในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด ที่จริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวมาจากการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในประเทศเลบานอน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวยืนยันกับ AFP

ถ่ายทำหนังสั้น

จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้ฉากจากวิดีโอ ทำให้พบโพสต์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ที่แสดงให้เห็นภาพเดียวกันถูกโพสต์ในบัญชีในอินสตาแกรมชื่อว่า @rami.jardali โดยมีคำบรรยายในภาษาอาหรับระบุว่า "เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 'The Reality'" (ลิงก์บันทึก)

Image
Screenshot of a Facebook post and an Instagram video, both taken November 17, 2023

โพสต์เดียวกันนี้ยังแท็กบัญชีอินสตาแกรมของ มาห์มุด แรมซี ซึ่งเขาระบุว่าตนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในประเทศเลบานอน

View this post on Instagram

A post shared by Rami&Razan (@rami.jardali)

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 แรมซีได้แชร์ "The Reality" ซึ่งเป็นภาพยนตร์สั้นไว้ในบัญชีอินสตาแกรมของเขา (ลิงก์บันทึก) ภาพยนตร์เรื่องนี้สลับไปมาระหว่างฉากต่างๆ เช่น ฉากผู้ประท้วงที่ถือธงปาเลสไตน์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากสภากาชาดทำแผลให้เด็กหญิง และนักไวโอลินเล่นดนตรีอยู่ข้างเปลหาม ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายแบบรวดเดียวจบโดยไม่มีการตัดต่อ

แรมซีกล่าวกับ AFP ว่าภาพยนตร์สั้นเรื่องดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยการถ่ายทำเกิดขึ้นในเมืองไซดอน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเลบานอน ไม่ใช่ในฉนวนกาซาตามคำกล่าวอ้าง นอกจากนี้ แรมซีกล่าวว่าเขารู้สึก "โกรธ" ที่ภาพจากกองถ่ายถูกนำไปแชร์อย่างผิดๆ โดยเขาได้แชร์วิดีโอเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นี่ และ นี่ เพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ Pallywood อีกด้วย

คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ 'นักแสดง'

คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับ "นักแสดง" ที่เข้ามาสร้างสถานการณ์เพื่อทำให้ความทุกข์ทรมานดูเกินจริงนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกาและการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คำกล่าวอ้างประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการสร้างสถานการณ์ในฉนวนกาซา คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังคงถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถาบันพอยน์เตอร์ (Poynter) ได้รายงานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานและกล่าวหาว่าชาวอิสราเอลที่รอดชีวิตจากการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้นเป็น "นักแสดง" ที่จัดฉากเพื่อตบตาสาธารณชน

ก่อนหน้านี้ AFP ได้เผยแพร่บทความที่นี่ และ นี่ เพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างที่อ้างว่าผู้สื่อข่าวจัดฉากรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หลังพวกเขาหลบไปยังที่ปลอดภัยเมื่อได้ยินเสียงระเบิด

สามารถอ่านรายงานของ AFP เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา