วิดีโอแสดงภาพชาวอาเซอร์ไบจานร่วมพิธีทางทหาร ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์ที่อพยพออกจากฉนวนกาซา

  • เผยแพร่ วัน 14 ธันวาคม 2023 เวลา 06:18
  • อัพเดตแล้ว วัน 19 ธันวาคม 2023 เวลา 09:54
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Mary KULUNDU, AFP Kenia, AFP ประเทศไทย
  • แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
อิสราเอลทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องลงในพื้นที่ฉนวนกาซาเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในเดือนตุลาคม ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นมากกว่าหนึ่งล้านคน ในช่วงที่การปฏิบัติการตอบโต้ของอิสราเอลดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งได้แชร์วิดีโอที่อ้างว่าเป็นภาพชาวปาเลสไตน์เร่งอพยพออกจากฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เนื่องจากวิดีโอดังกล่าวแสดงพิธีการทางทหารในประเทศอาเซอร์ไบจานในเดือนสิงหาคม 2566

ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งโพสต์วิดีโอเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นฝูงชนกำลังเดินทางไปยังที่แห่งหนึ่ง โดยวิดีโอดังกล่าวฝังข้อความภาษาไทยระบุว่า "โชคดีแค่ไหนที่เราเกิดบนแผ่นดินไทย ชาวปาเลสไตน์เร่งอพยพหนีสงคราม"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์โดยผู้ใช้งานติ๊กตอกในประเทศไทยที่นี่ นี่ นี่ และ นี่

คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กในอีกหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย ยูกันดา เอธิโอเปีย และ ออสเตรเลีย

สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หลังนักรบฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหัน โดยสังหารผู้คนไปประมาณ 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเมือง นอกจากนี้กลุ่มฮามาสยังจับตัวประกันไปอีกราว 240 คนจากข้อมูลของฝั่งอิสราเอล

อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะทำลายกลุ่มฮามาส โดยการปฏิบัติการทางอากาศและภาคพื้นดินได้ถล่มฉนวนกาซา และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 17,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงการอพยพออกจากฉนวนกาซา แต่เป็นคลิปวิดีโอในประเทศอาเซอร์ไบจานที่เผยแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ก่อนหน้าที่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสจะปะทุขึ้นเกือบสองเดือน

พิธีการในประเทศอาเซอร์ไบจาน

เบาะแสในวิดีโอสามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ในวิดีโอไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในฉนวนกาซา

เมื่อดูวิดีโอในเวลาเพียงไม่กี่วินาที จะสังเกตเห็นธงประจำชาติอาเซอร์ไบจานอยู่ในฝูงชน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อชี้ให้เห็นธงประจำชาติอาเซอร์ไบจานที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอ

หลังใช้เครื่องมือ InVID We Verify เพื่อตรวจสอบวิดีโอและค้นหาภาพถ่ายแบบย้อนหลังแล้ว AFP พบวิดีโอเดียวกันนี้พร้อมคำบรรยายในภาษาอาเซอร์ไบจานในบัญชีเทเลแกรมบัญชีหนึ่ง

"บรรดาผู้ปกครองจำนวนมากหลังพิธีปฏิญาณตนของทหารในกองทัพ” คำบรรยายระบุ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จในติ๊กตอก (ขวา) และภาพถ่ายหน้าจอของบัญชีเทเลแกรมที่แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำบรรยายในภาษาอาเซอร์ไบจาน (ขวา)

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จในติ๊กตอก (ขวา) และภาพถ่ายหน้าจอของบัญชีเทเลแกรมที่แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำบรรยายในภาษาอาเซอร์ไบจาน (ขวา) 

การค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติมยังเผยให้เห็นว่า วิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ในบัญชียูทูปของสำนักข่าวอาเซอร์ไบจานชื่อ บากูทีวี (ลิงก์บันทึก) พร้อมคำบรรยายที่คล้ายกับคำบรรยายในเทเลแกรม

กรุงบากูคือเมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน

นอกจากนี้ เมื่อวิดีโอของบากูทีวีเลื่อนไปทางด้านขวา ผู้ชมก็จะมองเห็นเจ้าหน้าที่ที่สวมเครื่องแบบสารวัตรทหารของอาเซอร์ไบจาน

Image
วิดีโอในยูทูปของบากูทีวีเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่ที่สวมเครื่องแบบสารวัตรทหารของอาเซอร์ไบจาน

บนเครื่องแบบนั้นมีตัวอักษร "HP" ที่ปรากฏอยู่ชัดเจน โดยตัวอักษรย่อดังกล่าวหมายถึง "Hərbi Polis" หรือสารวัตรทหาร โดยเครื่องแบบนี้เป็นเครื่องแบบทั่วไปของสารวัตรทหาร ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวอื่นๆ ในประเทศอาเซอร์ไบจาน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 คลิปวิดีโอพิธีปฏิญาณตนดังกล่าวถูกโพสต์ลงยูทูปโดยบัญชีทางการของกระทรวงกลาโหมของอาเซอร์ไบจานได้โพสต์ (ลิงก์บันทึก)

“ตามแผนการเตรียมความพร้อมของปี 2566 ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม กองทัพอาเซอร์ไบจานได้จัดพิธีปฏิญาณตนของทหารขึ้น” คำบรรยายใต้วิดีโอยูทูประบุ

“ผู้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ได้แก่ ครอบครัวของทหารที่เสียชีวิต ผู้บังคับบัญชาการหน่วยทหาร ผู้บริหารระดับท้องถิ่นและผู้แทนราษฎร ทหารผ่านศึก และผู้ปกครองของทหาร”

สามารถอ่านรายงานของ AFP เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา