วิดีโอไฟไหม้เรือนอกชายฝั่งศรีลังกาในปี 2564 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เรืออิสราเอลถูกกลุ่มกบฏของเยเมนโจมตี
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 25 ธันวาคม 2023 เวลา 05:35
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Natalie WADE, AFP สหรัฐอเมริกา, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ภาพของเรือบรรทุกสินค้า Unity Explorer ของอิสราเอลเสียหายอย่างหนักโดยการโจมตีของกลุ่มอันซารุลเลาะห์ ขณะนี้เรือได้จมลงในทะเลแดงแล้ว" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งเขียนข้อความดังกล่าวเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566
โพสต์ดังกล่าวได้แชร์คลิปวิดีโอหนึ่งที่แสดงเรือบรรทุกสินค้าที่ลุกไหม้อยู่กลางทะเล โดยมีกลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยขึ้นไปในอากาศ
วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ และ นี่
นอกจากนี้ ยังพบโพสต์ที่คล้ายๆ กันถูกแชร์ในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ อาหรับ อินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 กลุ่มกบฏฮูตีได้โจมตีเรือพาณิชย์หลายลำ รวมถึงเรือชื่อ ยูนิตี้ เอ็กซ์พลอเรอร์ ตามรายงานของกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (Centcom) (ลิงก์บันทึก) เรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงด้วยการยิงขีปนาวุธหลายครั้งติดต่อกันเหนือทะเลแดงเพื่อช่วยเหลือเรือเหล่านั้น
กลุ่มกบฏฮูตีได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีเรือยูนิตี้ เอ็กซ์พลอเรอร์ และเรือหมายเลข 9 โดยแถลงว่า เรือเหล่านี้เป็นของอิสราเอล และการโจมตีเรือของประเทศจะดำเนินต่อไป "จนกว่าการโจมตีของอิสราเอลต่อพี่น้องของเราในฉนวนกาซาจะยุติลง"
อิสราเอลได้ประกาศสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสหลังถูกกลุ่มดังกล่าวบุกโจมตีอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไป 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และมีตัวประกันถูกจับไปราว 240 คน ทางการของอิสราเอลระบุ
สื่อของกลุ่มฮามาสระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดของประชาชนในฉนวนกาซานั้นมีมากกว่า 16,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มกบฏฮูตีได้ยึดเรือสินค้าและยิงขีปนาวุธหลายลูกถล่มอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ได้แสดงภาพการโจมตีเรือยูนิตี้ เอ็กซ์พลอเรอร์ ที่กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นเรือสัญชาติสหราชอาณาจักรและประดับธงบาฮามาส ในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นเหตุการณ์ไฟไหม้เรือที่อยู่นอกชายฝั่งของประเทศศรีลังกาในปี 2564
ไฟไหม้เรือนอกชายฝั่งศรีลังกา
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอดังกล่าว AFP พบวิดีโอเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในยูทูปตั้งแต่ปี 2564 (ลิงก์บันทึก) และในนิวส์แฟลร์ โดยมีคำบรรยายประกอบว่า "ลูกเรืออพยพในขณะที่เรือบรรทุกสินค้านอกชายฝั่งของศรีลังกายังคงลุกไหม้ต่อไป" (ลิงก์บันทึก)
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่เรือลำหนึ่งชื่อเอ็กซ์เพรส เพิร์ล (X-Press Pearl) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายหลายชนิด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากไฟไหม้ติดต่อกันนานถึง 13 วัน ก่อนที่ปฏิบัติการระหว่างประเทศจะสามารถดับไฟดังกล่าวได้สำเร็จ
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของศรีลังกา เนื่องจากสารดคมีที่อยู่บนเรือสร้างมลพิษในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังนำไปสู่การฟ้องร้องบริษัทเจ้าของเรืออีกหลายคดี
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา