ภาพเก่าของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็น "ภาพหลุด" ล่าสุด
- เผยแพร่ วันที่ 23 มกราคม 2024 เวลา 08:37
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ภาพหลุดนักโทษทักษิณ ชินวัตร หนึ่งภาพ ล้านความรู้สึก" โพสต์ที่เผยแพร่ใน X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 โดยอ้างว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายในวันเดียวกันนั้นเอง
อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวถูกยึดอำนาจจากรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนจะลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนานกว่า 15 ปี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เขาได้เดินทางกลับประเทศไทย ก่อนจะถูกพิพากษาให้จำคุกทันทีจากคดีทุจริตที่ยังไม่หมดอายุความ
หลังมหาเศรษฐีวัย 74 ปีถูกส่งตัวไปเรือนจำเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ถูกย้ายไปรักษาตัวยังห้องส่วนตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กันยายน เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษจำคุกลงจาก 8 ปีเหลือเพียง 1 ปี
ทักษิณเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันเดียวกันกับวันที่พรรคเพื่อไทยของเขาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่สนับสนุนกองทัพสำเร็จ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเคลือบแคลงว่ามีการทำ "ดีลลับ" เพื่อให้เขาได้รับการลดโทษ
ภาพถ่ายเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็น "ภาพหลุด" ในเดือนมกราคม 2567 โดยโพสต์อื่น เช่น ใน X ที่นี่ เฟซบุ๊กที่นี่ และ นี่ และติ๊กตอกที่นี่
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางคนแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่า พวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพหลุดล่าสุดจริง
"เอ้า.ไหนว่าอาการหนัก ต้องพักอยู่ รพ.ต่อ หน้าตาก็สดใสดี" ผู้ใช้งานบัญชีหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น
"ถ้าภาพนี้จริงก้เอาเข้าคุกได้เลย.." ผู้ใช้งานอีกบัญชีระบุ
ประกาศของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปและมีภาวะเจ็บป่วย จะได้รับพิจารณาเข้าโครงการพักการลงโทษหลังรับโทษจำคุกแล้วอย่างน้อย 6 เดือน จากข้อกำหนดดังกล่าว ทักษิณจะเข้าข่ายเกณฑ์ได้รับการพักโทษในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ภาพถูกแชร์ผิดบริบท
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายที่ปรากฏในโพสต์เท็จเป็นภาพเก่า ซึ่งถูกแชร์ครั้งแรกโดยแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นบุตรสาวของทักษิณ โดยเธอได้เผยแพร่ไว้ในบัญชีอินสตาแกรมของตนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลา 1 ปีก่อนหน้าที่ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายในโพสต์ต้นฉบับเขียนว่า "หายแล้วววว กำลังใจของคุณตาตา @thaksinlive คุณพ่อไม่เคยผ่าตัดเลยจนอายุจะ 73 เดือนนี้แล้ว"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ในอินสตาแกรมของแพทองธาร (ขวา):
นอกจากนี้แล้วภาพถ่ายเดียวกันถูกนำไปเผยแพร่ในรายงานของสื่อไทยเกี่ยวกับสุขภาพของทักษิณ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2565
ไทยรัฐรายงานว่า ทักษิณเข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำดีและไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 (ลิงก์บันทึก)
ขณะที่ผู้จัดการออนไลน์ก็รายงานเกี่ยวกับการผ่าตัดของทักษิณในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ด้วยเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)
พาดหัวบทความในเว็บไซต์ผู้จัดการเขียนว่า "'อุ๊งอิง-เอม' โพสต์อินสตาแกรมบอก 'พ่อแม้ว' หายแล้ว-แข็งแรงดี ออกจากโรงพยาบาลเดินลิ่วไม่รอใคร"
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับทักษิณหลังเขาเดินทางกลับประเทศไทยที่นี่
กรมราชทัณฑ์ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ว่า ทักษิณยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพมหานคร (ลิงก์บันทึก)
ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า "อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วมีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณฯ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ"
"เนื่องจากทักษิณยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที"
แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของทักษิณ
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา