วิดีโอโดรนติดสายไฟถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเกี่ยวข้องเหตุโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน

โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอพร้อมเขียนคำบรรยายล้อเลียนกองทัพอิหร่านถึงศักยภาพของโดรนที่บินไปติดอยู่กับสายไฟระหว่างการโจมตีอิสราเอล อย่างไรก็ตามคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 สองเดือนก่อนหน้าอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล นอกจากนี้ วิดีโอดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศซีเรีย

"#อิหร่าน #อิรัก #อิสราเอล โดรนฆ่าตัวตายของอิหร่าน ติดอยู่ในสายไฟของเสาไฟฟ้าในอิรัก" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งแชร์วิดีโอและเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นโดรนลำหนึ่งติดอยู่กับสายไฟ โดยได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดเป็นภาษาอาหรับว่า "นี่ไง มันติดอยู่กับสายไฟ"

โพสต์ดังกล่าวถูกรีโพสต์ 118 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจ 356 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอดังกล่าวและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาพม่า

โพสต์เหล่านี้ถูกเผยแพร่หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567

เมื่อวันที่ 1 เมษายน เกิดการโจมตีอาคารกงสุลของสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางทหาร 7 คนเสียชีวิต อิหร่านเชื่อว่าอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งดังกล่าว จึงตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธมากกว่า 300 ลูกใส่อิสราเอล

อิสราเอลระบุว่าสามารถสกัดกั้นโดรนและขีปนาวุธที่อิหร่านยิงใส่ได้ร้อยละ 99 ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และพันธมิตร โดยพบความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลังการโจมตี มีรายงานว่าพบชิ้นส่วนจากขีปนาวุธของอิหร่านอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิรัก (ลิงก์บันทึก)

คลิปวิดีโอเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพถ่ายหน้าจอจากวิดีโอที่แสดงให้เห็นโดรนลำดังกล่าวติดอยู่กับสายไฟ ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเวลากว่าสองเดือนก่อนอิหร่านจะเปิดฉากโจมตีอิสราเอล

สำนักข่าวอัลจาซีราในซีเรียเผยแพร่ภาพดังกล่าวในโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พร้อมระบุว่าภาพดังกล่าวถ่ายที่เมืองฮาซาเคห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย (ลิงก์บันทึก)

สื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ที่นี่ และ นี่ ก็ได้เผยแพร่วิดีโอเดียวกัน และรายงานว่าว่าเป็นภาพจากเมืองฮาซาเคห์ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

AFP ไม่สามารถยืนยันอย่างอิสระถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของภาพดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2566 กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนอิหร่านได้เปิดฉากโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธที่พุ่งเป้าไปที่กองทัพจองสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ประจำการอยู่ในตะวันออกกลาง

การโจมตีส่วนใหญ่ถูกอ้างว่าเป็นการโจมตีของฝ่ายต่อต้านที่นับถือศาสนาอิสลามในอิรัก ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กลุ่มดังกล่าวไม่พอใจที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามในฉนวนกาซา

AFP ได้ตรวจสอบภาพถ่ายและวิดีโอที่ถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าแสดงการโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา