นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้พ่นสีใส่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของเทย์เลอร์ สวิฟต์

ศิลปินอเมริกันชื่อดัง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกด้วยเครื่องบินส่วนตัว อย่างไรก็ตาม มีการแชร์คำกล่าวอ้างเท็จในโลกออนไลน์ว่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของเธอถูกพ่นสีโดยนักเคลื่อนไหวกลุ่มจัสต์ สต็อป ออยล์ (Just Stop Oil) ที่สนามบินลอนดอนสแตนสเต็ด อย่างไรก็ตาม AFP ตรวจสอบและพบว่าเครื่องบินที่ถูกพ่นสีนั้นไม่ใช่เครื่องบินของสวิฟต์ และตำรวจอังกฤษได้ยืนยันกับ AFP ว่า เครื่องบินส่วนตัวของสวิฟต์ไม่ได้ถูกพ่นสีโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหว

"กลุ่ม Just Stop Oil เพิ่งทำการพ่นสีส้มใส่ สโตนเฮนจ์ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกไปหมาดๆ ล่าสุดจุดประเด็นร้อนอีกแล้วด้วยการพ่นสีส้มใส่เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของ Taylor Swift หลังจากลงจอดที่ประเทศอังกฤษ" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567

ภาพในโพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นผู้หญิงสวมเสื้อยืดที่เขียนว่า "Just Stop Oil" หลังพ่นสีส้มใส่เครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามบิน

โพสต์ดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 4,400 ครั้ง และถูกแชร์มากกว่า 620 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างนี้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ขณะที่สวิฟต์กำลังเดินทางอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ The Eras Tour ของเธอ โดยระหว่างวันที่ 21 ถึง 23 มิถุนายน 2567 เธอทำการแสดงในกรุงลอนดอน 3 ครั้ง 

ศิลปินหญิงคนดังกล่าวใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวในการเดินทางอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเครื่องบินเจ็ตนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ

คำกล่าวอ้างเท็จนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเยอรมัน  อังกฤษ  จีน และ อินโดนีเซีย

ประท้วงที่สนามบิน

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 กลุ่ม Just Stop Oil ได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งใน X ซึ่งเผยให้เห็นนักเคลื่อนไหวพ่นสีส้มใส่เครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพวกเขาพุ่งเป้าไปที่เครื่องบินของสวิฟต์ (ลิงก์บันทึก)

โพสต์ X ดังกล่าวระบุว่า "กลุ่ม Just Stop Oil ได้พ่นสีใส่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวหลายชั่วโมงหลังเครื่องบินของเทย์เลอร์ สวิฟต์ลงจอด"

คำบรรยายภาพระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่สนามบินลอนดอนสแตนสเต็ด ซึ่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของสวิฟต์จอดอยู่

หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มิถุนายน กลุ่มดังกล่าวได้แชร์โพสต์ใน X อีกครั้ง โดยไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพวกเขาพ่นสีใส่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของสวิฟต์

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า "ในเช้าวันพฤหัสบดี พวกเขาเข้าไปในสนามบินส่วนตัวสแตนสเต็ด ซึ่งเครื่องบินของเทย์เลอร์ สวิฟต์จอดอยู่ ก่อนที่พวกเขาจะพ่นสีส้มใส่เครื่องบิน 2 ลำ"

หนึ่งวันก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม Just Stop Oil ได้พ่นสีส้มใส่แท่งหินสโตนเฮนจ์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก

เครื่องบินของสวิฟต์ไม่ได้รับความเสียหาย

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของสวิฟต์ลงจอดในสนามบินลอนดอนสแตนสเต็ดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567

อย่างไรก็ตาม ตำรวจในพื้นที่เอสเซ็กซ์กล่าวกับ AFP ว่า เครื่องบินของสวิฟต์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่สนามบินในจังหวะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวบุกรุกเข้ามาเพื่อพ่นสี

AFP ได้ติดต่อไปยังทีมประชาสัมพันธ์ของสนามบินลอนดอนแตนสเต็ดและสวิฟต์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

Image
ภาพเทย์เลอร์ สวิฟต์แสดงที่สนามฟุตบอล Estadio da Luz ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 (AFP / ANDRE DIAS NOBRE)

AFP ยังรายงานด้วยว่านักเคลื่อนไหว 2 คน ได้แก่ เจนนิเฟอร์ โควาลสกี อายุ 28 ปี และโคล แมกโดนัลด์ อายุ 22 ปี ถูกจับกุมและตั้งข้อหาบุกรุกและก่อความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งสองปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ลักษณะเครื่องบินไม่ตรงกัน

จากวิดีโอที่แสดงภาพนักเคลื่อนไหวพ่นสีใส่เครื่องบินเจ็ต มีเครื่องบินเพียงลำเดียวเท่านั้นที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน

เครื่องบินลำนี้มีรหัสเที่ยวบิน N1875A โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นของธนาคารสหรัฐฯ ไม่ใช่เครื่องบินของสวิฟต์ (ลิงก์บันทึก)

แม้จะไม่สามารถระบุรหัสของเครื่องบินอีกลำที่ถูกพ่นสีได้ แต่เครื่องบินทั้ง 2 ลำในคลิปมีลักษณะที่แตกต่างจากเครื่องบินส่วนตัวของสวิฟต์

เครื่องบินเจ็ตของสวิฟต์นั้นคือรุ่น Falcon 7X โดยมีลักษณะสำคัญคือไอพ่น 3 เครื่องอยู่ที่ด้านหลัง ข้อมูลขององค์การบริหารการบินแห่งชาติระบุ (ลิงก์บันทึก)

เครื่องบินทั้ง 2 ลำที่ปรากฏในคลิปของกลุ่ม Just Stop Oil นั้นมีไอพ่นอยู่เพียง 2 เครื่องเท่านั้น

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างเครื่องบินรุ่น Falcon 7X (ซ้าย) กับเครื่องบินที่ถูกพ่นสีโดยนักเคลื่อนไหว (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างเครื่องบินรุ่น Falcon 7X (ซ้าย) กับเครื่องบินที่ถูกพ่นสีโดยนักเคลื่อนไหว (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา