การระบาดของเอ็มพ็อกซ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคงูสวัดหรือวัคซีนโควิด-19
- เผยแพร่ วันที่ 5 กันยายน 2024 เวลา 06:54
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Celine SEO, AFP ฮ่องกง, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ดร. วูล์ฟกัง วอดาร์ก เตือนว่าโรคฝีดาษลิงเป็นกลลวงอีกชนิดหนึ่ง และแท้จริงแล้วคือโรคงูสวัดที่เกิด จากการฉีดวัคซีนโควิด" เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวระบุต่อว่า แพทย์ชาวเยอรมันได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "กระแสโฆษณาเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันเป็นเพียงการสร้างความกลัวโดยผู้มีอำนาจที่ทุจริตซึ่งพยายามปกปิดอาการของวัคซีนที่เรียกว่าวัคซีนโควิด"
เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีผู้ติดตามมากกว่า 25,000 บัญชี และมักเผยแพร่ข้อมูลเท็จและทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโรคระบาดอย่างสม่ำเสมอ
คำกล่าวอ้างนี้ปรากฏบนโลกออนไลน์หลังองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์ (mpox) หรือชื่อเดิมคือฝีดาษลิง (monkeypox) ในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกาให้เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 208 ราย และผู้ติดเชื้อมากกว่า 99,000 คนใน 116 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567
คำกล่าวอ้างเท็จลักษณะคล้ายกันนี้ถูกแชร์ในโพสต์ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาจีน สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมัน
ไม่มีความเกี่ยวข้อง
ไวรัสเอ็มพ็อกซ์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในลิงเมื่อปี 2501 ในเดนมาร์ก จึงถูกเรียกว่าโรคฝีดาษลิง
ต่อมาในปี 2513 พบการติดเชื้อในมนุษย์ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน
เอ็มพ็อกซ์เกิดจากการการติดต่อของไวรัสจากสัตว์ที่ติดเชื้อสู่คน และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
อาการของโรคนี้ประกอบด้วยไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และผื่นคล้ายเม็ดพุพองบริเวณผิวหนัง (ลิงก์บันทึก)
ศาสตราจารย์หยวน ควอกยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและนักจุลชีววิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ลีกาชิง มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่าคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเอ็มพ็อกซ์นี้เป็นเท็จ
"วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เป็นสาเหตุหรือผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดเอ็มพ็อกซ์ เนื่องจากเอ็มพ็อกซ์มักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ" ศาสตราจารย์หยวนกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567
องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ภาวะการระบาดของเอ็มพ็อกซ์ไม่รุนแรงเหมือนโควิด-19 (ลิงก์บันทึก)
AFP ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่าเอ็มพ็อกซ์เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ที่นี่
"ไม่มีเหตุผลที่จะระบุได้ว่าการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด" เดวิด เฮย์แมนน์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อจากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (LSHTM) มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวกับ AFP เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 (ลิงก์บันทึก)
การเชื่อมโยงแบบผิด ๆ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 วูล์ฟกัง วอดาร์ก ได้ให้สัมภาษณ์กับ AUF1 สถานีโทรทัศน์ฝั่งอนุรักษนิยมของออสเตรเลียที่มักจะสนับสนุนกฤษฎีสมคบคิดและเผยแพร่ข่าวเท็จ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
ในบทสัมภาษณ์ความยาว 45 นาที วอดาร์กอ้างว่าอาการของเอ็มพ็อกซ์นั้นเหมือนกับอาการของโรคงูสวัด และวงการเภสัชกรรมพยายามจะทำให้ผู้คนตื่นกลัวโดยการใช้ผลข้างเคียงของโคโรนาไวรัสเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ๆ (ลิงก์บันทึก)
วอดาร์กอ้างอย่างผิด ๆ อีกว่า หากทำการตรวจทดสอบโรคเอ็มพ็อกซ์ในผู้ป่วยโรคงูสวัด จะทำให้แสดงผลเป็นผลบวกปลอมได้เช่นกัน (ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นบวก)
อย่างไรก็ตาม วอดาร์กไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆ ในการสัมภาษณ์เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ของเขา
เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า "การยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์อาจจะยาก เนื่องจากลักษณะการติดเชื้อและอาการต่าง ๆ มีความคล้ายกับโรคอื่น" รวมถึงโรคเริมด้วย (ลิงก์บันทึก)
ศาสตราจารย์หยวนระบุกับ AFP ว่า "การตรวจเอ็มพ็อกซ์แบบพีซีอาร์นั้นมีความเฉพาะเจาะจงอย่างมาก และไม่น่าเกิดผลบวกปลอมได้หากผ่านกระบวนการตรวจอย่างเหมาะสม"
AFP ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นคำกล่าวอ้างเท็จต่าง ๆ ของวอดาร์กเกี่ยวกับวัคซีนที่นี่ นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา