นี่เป็นวิดีโอเหตุน้ำท่วมในอินเดีย ไม่ใช่ 'ชาวฟลอริดาอพยพหนีพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน'

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ในขณะที่รัฐฟลอริดาเตรียมรับมือกับพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนกว่าห้าล้านคนอพยพออกจากพื้นที่ คลิปวิดีโอที่แสดงภาพการจราจรติดขัดบนทางหลวงที่น้ำท่วมถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นเหตุการณ์จากเมืองมุมไบในประเทศอินเดีย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2567

"ชาวอเมริกันในฟลอริดากำลังอพยพอย่างเร่งรีบ เนื่องจากพายุเฮอริเคน "มิลตัน" ได้เข้ามาในฟลอริดาแล้ว" โพสต์ X เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมระบุเป็นภาษาไทย

คำบรรยายระบุต่อว่า "คาดว่าพายุนี้จะเข้าถล่มในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้"

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอความยาว 16 วินาทีที่เผยให้เห็นภาพรถยนต์จำนวนมากอยู่บนทางด่วนที่น้ำท่วม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปดังกล่าวและคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทย และโพสต์ภาษาอื่น ๆ เช่นภาษาอังกฤษ  สเปน และ เกาหลี

ผู้ว่าการรัฐ รอน เดอซานติส ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 51 เขตจากทั้งหมด 67 เขตทั่วรัฐฟลอริดา โดยระบุว่าเฮอร์ริเคนมิลตันอาจมี "ผลกระทบร้ายแรง" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

นอกจากนี้ มีการออกคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ชายฝั่งอย่างน้อย 15 เขต ซึ่งส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด (ลิงก์บันทึก)

พายุเฮอร์ริเคนมิลตันก่อตัวขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังเฮลีน พายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 พัดถล่มรัฐฟลอริดา และนับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2548 จากอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (ลิงก์บันทึก)

ทางการระบุว่า เฮอร์ริเคนมิลตันได้ทวีความรุนแรงจากระดับ 4 เป็นระดับ 5 อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม คลิปที่แพร่หลายทางออนไลน์ดังกล่าวไม่ได้เป็นคลิปที่ถ่ายในรัฐฟลอริดา

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่าคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ทางอินสตาแกรม โดยบัญชีดังกล่าวเขียนคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษว่า คลิปแสดงภาพจากทางหลวงเวสต์เทิร์นเอ็กซ์เพรสในประเทศอินเดีย ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเมืองมุมไบกับชานเมืองทางตอนเหนือ โดยคลิปนี้ถูกถ่ายไว้ได้หลังเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม (ลิงก์บันทึกที่นี่และนี่)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์อินสตาแกรมเมื่อวันที่ 25 กันายน 2567 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์อินสตาแกรมเมื่อวันที่ 25 กันายน 2567 (ขวา)

นอกจากนี้ สื่อออนไลน์หลายแห่งในอินเดียยังเผยแพร่คลิปที่แสดงภาพคล้าย ๆ กันจากเหตุการณ์ในวันเดียวกัน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 เกิดฝนตกหนักในเมืองมุมไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญของอินเดีย โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คน ทำให้ทางการได้ประกาศปิดโรงเรียนและแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา