วิดีโอนี้แสดงเหตุรถบรรทุกพุ่งชนทหารอิสราเอลในเยรูซาเลมปี 2560 ไม่ใช่ปี 2567

หลังจากเกิดเหตุรถบรรทุกพุ่งชนผู้คนบริเวณป้ายรถประจำทางใกล้ฐานทัพในกรุงเทลอาวีฟ วิดีโอเก่าที่แสดงเหตุรถบรรทุกพุ่งชนกลุ่มทหารถูกนำมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่แสดงเหตุสะเทือนขวัญลักษณะคล้ายกันบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 2560 
คำเตือน: วิดีโอนี้มีเนื้อหารุนแรง

"วินาทีการก่อวินาศกรรม รถบรรทุกพุ่งชนทหาร #อิสราเอล บริเวณสำนักงานใหญ่ #กิลอต ในเมืองเทลอาวีฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่วิดีโอที่มีภาพไม่คมชัดซึ่งแสดงจังหวะที่รถบรรทุกพุ่งชนเข้าใส่กลุ่มคน และผู้คนโดยรอบต่างพากันวิ่งหนีหาที่กำบัง 

โพสต์นี้ถูกแชร์บนโลกออนไลน์หลังจากเกิดเหตุคนขับรถบรรทุกพุ่งเข้าใส่ผู้คนบริเวณป้ายรถประจำทางในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 30 คน (ลิงก์บันทึก)

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งขึ้นบริเวณใกล้กับสำนักงานใหญ่ข่าวกรองมอซสาดและกองกำลังป้องกันอิสราเอลต่าง ๆ นั้นเป็นอุบัติเหตุหรือการก่อการร้าย 

แต่ตำรวจระบุว่าพลเรือนในจุดเกิดเหตุได้พยายาม "ใช้ปืนยิงสกัดคนขับรถบรรทุกและยับยั้งการก่อเหตุ"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 (FS)

กลุ่มฮามาสกล่าวในแถลงการณ์ว่า "การโจมตีอย่างกล้าหาญ" ครั้งนี้ถือเป็น "การตอบโต้อาชญากรรมต่าง ๆ ที่ขบวนการไซออนิสต์ได้กระทำเอาไว้" ต่อชาวปาเลสไตน์ 

กองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ได้ก่อเหตุโจมตีในอิสราเอลหลายครั้ง นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 

ชนวนสงครามรอบล่าสุดเกิดจากเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสยิงโจมตีอิสราเอลเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม AFP รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลของทางการอิสราเอลอยู่ที่จำนวน 1,206 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือน ซึ่งรวมถึงเหยื่อที่ถูกสังหารขณะถูกจับเป็นตัวประกันด้วย

จากตัวประกันทั้งหมด 251 คน ขณะนี้มี 97 คนที่ยังคงถูกคุมขังไว้ในกาซา และทางการอิสราเอลรายงานว่าตัวประกัน 34 รายเสียชีวิตแล้ว

การตอบโต้ของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตในกาซาอย่างน้อย 43,000 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือน โดยข้อมูลนี้มาจากกระทรวงสาธารณสุขในเขตปกครองของกลุ่มฮามาสซึ่งองค์การสหประชาชาติยืนยันว่าเชื่อถือได้

วิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ อารบิก และ อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ใช่เหตุโจมตีในปี 2567 แต่เป็นวิดีโอจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 2560

ารโจมตีในกรุงเยรูซาเลม

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมต่าง ๆ ของวิดีโอบนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันปรากฏอยู่ในรายงานข่าวบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดอะเยรูซาเลมโพสต์ และสื่ออิสราเอลชื่อ Ynet เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่

เดอะเยรูซาเลมโพสต์พาดหัวข่าวว่า "วิดีโอ: กล้องวงจรปิดจับภาพวินาทีคนขับรถพุ่งชนคนในเยรูซาเลม" พร้อมรายงานว่าเป็นภาพของการก่อการร้ายที่จุดชมวิวอาร์มอน ฮาเนซิฟ ในเยรูซาเลม 

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในรายงานข่าวของเดอะเยรูซาเลมโพสต์ (ขวา):

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในรายงานข่าวของเดอะเยรูซาเลมโพสต์ (ขวา)

ภาพถ่ายจาก Google Street View ยืนยันได้ว่าวิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกที่ "เดอะ ทาเยเล็ต" หรือลานเดินชมวิวซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในเยรูซาเลมที่อยู่ติดกับจุดชมวิวอาร์มอน ฮาเนซิฟ (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Google Street View โดย AFP ได้ทำสัญลักษณ์เน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน (ขวา):

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Google Street View โดย AFP ได้ทำสัญลักษณ์เน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน (ขวา)

เหตุดังกล่าวทำให้ทหารอิสราเอล 4 นายเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 17 คน (ลิงก์บันทึก)

ผู้ก่อเหตุซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ ถูกระบุตัวภายหลังว่าเป็นชายชาวปาเลสไตน์ อายุ 20 ปลาย ๆ จากฝั่งเยรูซาเลมตะวันออก

สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และผู้ประสานงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางต่างประณามการก่อเหตุครั้งนี้

กรุงเยรูซาเลมถือเป็นหนึ่งในปมความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลาง เนื่องจากอิสราเอลถือว่าพื้นที่ในเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของตัวเอง ขณะที่ชาวปาเลสไตน์มองว่าเยรูซาเลมตะวันออกซึ่งถูกอิสราเอลยึดครองในปี 2510 และผนวกดินแดนนั้นเป็นเมืองหลวงในอนาคตของพวกเขา

อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา