วิดีโอเครื่องลงคะแนนเสียงในรัฐเคนทักกีถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดว่ามีการโกงเลือกตั้ง

วิดีโอของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งรายหนึ่งที่ไม่สามารถเลือกชื่อของโดนัลด์ ทรัมป์ บนหน้าจอเครื่องลงคะแนนเสียง ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่ามีการแทรกแซงระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าเหตุดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสบริเวณที่ว่างบนหน้าจอระหว่างรายชื่อแคนดิเดตสองคน และผู้ลงคะแนนสามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดก่อนที่จะยืนยันผลโหวต โดยบุคคลในคลิปสามารถแก้ไขการลงคะแนนของตัวเองได้เป็นที่เรียบร้อย

"มึงจะเลือก Trump เหรอ? ฝันไปเถอะ ใน Kentucky เครื่องลงคะแนนจะลงคะแนนให้นางแฮร์ริสโดยอัตโนมัติ โคตรพ่อโคตรแม่ต้นแบบประชาธิปไตยจริงๆ" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความและวิดีโอเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567

คลิปวิดีโอในโพสต์แสดงภาพของบุคคลที่พยายามสัมผัสหน้าจอของเครื่องลงคะแนนเสียงหลายครั้งเพื่อเลือกชื่อของโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน แต่เครื่องกลับแสดงผลการลงคะแนนที่ชื่อของกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตแทน

วิดีโอดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 420,000 ครั้ง และถูกแชร์มากกว่า 450 ครั้ง ถูกแชร์ว่าเป็นการโกงการเลือกตั้งในรัฐเคนทักกีในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดในภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ สเปน โปรตุเกส กรีก เยอรมัน ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน เกาหลี และพม่า

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567

ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งจริงในสหรัฐฯ รวมถึงคำกล่าวอ้างเท็จว่าระบบเครื่องลงคะแนนเสียงในรัฐอาร์คันซอและจอร์เจียทำการเปลี่ยนตัวเลือกโดยอัตโนมัติ

วิดีโอดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐเคนทักกีก็เป็นผลมาจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคของเครื่องลงคะแนนเพียงเครื่องเดียว และไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงกว้าง

โทนี บราวน์ เสมียนมณฑลลอเรล รัฐเคนทักกี อธิบายในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ว่าเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ได้เข้าตรวจสอบเครื่องลงคะแนนเสียงที่ปรากฏในวิดีโอแล้ว และสามารถจำลองข้อผิดพลาดดังกล่าวได้จากการสัมผัสที่พื้นที่ว่างบนหน้าจอระหว่างชื่อของแคนดิเดตสองคน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

"เราไม่เคยได้รับรายงานปัญหาของเครื่องลงคะแนนเครื่องนี้ ทั้งก่อนที่จะเกิดเหตุและหลังจากเปิดให้ใช้งานตามปกติอีกครั้ง"

บราวน์ระบุเพิ่มเติมว่า "เจ้าของวิดีโอดังกล่าวบอกว่าเธอได้ลงคะแนนเสียงอย่างถูกต้องตามที่เธอต้องการ"

ไม่พบปัญหาในเครื่องลงคะแนนอื่น

แม้ว่าโทนี บราวน์ จะกล่าวว่าเครื่องลงคะแนนที่ปรากฏในคลิปนั้นทำงานได้อย่างปกติ แต่รัสเซลล์ โคลแมน อัยการสูงสุดของรัฐเคนทักกี กล่าวในโพสต์ X ของเขาว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยแนะนำให้มณฑลลอเรลเปลี่ยนเครื่องลงคะแนน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

นอกจากนี้ เขาได้ย้ำให้ประชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัยของระบบเลือกตั้งสหรัฐฯ ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม (ลิงก์บันทึก)

คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐเคนทักกีแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงดำเนินการตรวจสอบและยืนยันว่าบุคคลในวิดีโอสามารถลงคะแนนเสียงตามที่เธอต้องการ และระบุว่าไม่พบเหตุขัดข้องอื่น ๆ ในเครื่องลงคะแนนเสียง (ลิงก์บันทึก)

"ผู้ลงคะแนนเสียงมากกว่า 1,700 คนในมณฑลลอเรลได้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและเสมียนมณฑลลอเรลไม่ได้รับรายงานปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง" แถลงการณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ระบุ

'ปากกาดิจิทัล'

เจมส์ ยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้าถึงการลงคะแนนเลือกตั้งในรูปแบบต่าง ๆ ระบุว่าเครื่อง "เอ็กซ์เพรสโหวต" (ExpressVote) ของบริษัทอีเอสแอนด์เอส (Election Systems & Software) เป็นเครื่องลงคะแนนที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกชื่อของแคนดิเดตที่ต้องการในระบบดิจิทัล เพื่อพิมพ์ลงบัตรเลือกตั้งก่อนจะหย่อนบัตรเพื่อลงคะแนนเสียง (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

"เครื่องลงคะแนนเสียงนั่นเปรียบเสมือนเป็นปากกาดิจิทัล ไม่ใช่เครื่องโหวต" เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 

เจมส์ ยัง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งในเมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี อธิบายเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ถูกนำมาใช้เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านเครื่องมือดังกล่าว

"เครื่องลงคะแนนเสียงจะถูกเก็บและดูแลด้านความปลอดภัยตลอดทั้งปี รวมถึงมีการใช้ซีลล็อกพลาสติกระหว่างการเลือกตั้ง โดยมีเสมียนมณฑลและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ คอยตรวจตราเครื่องเมื่อไม่ได้อยู่ระหว่างการใช้งาน"

"จะมีแค่เสมียนมณฑลและเจ้าหน้าที่เก็บผลสำรวจที่ได้รับการฝึกฝน และผ่านการกล่าวคำปฏิญาณตนภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ มาแล้วเท่านั้นที่ได้รับหน้าที่นี้" เขากล่าวเพิ่มเติม 

บริษัทอีเอสแอนด์เอสระบุในอีเมลว่า ข้อผิดพลาดที่เห็นในวิดีโอนั้นมีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้ใช้งานไม่ได้สัมผัสหน้าจอในจุดที่ถูกต้อง คาทินา เกรนเจอร์ โฆษกของบริษัท ยืนยันว่าเครื่องลงคะแนนเสียงไม่สามารถเปลี่ยนการโหวตของผู้ใช้งานอย่างแน่นอน (ลิงก์บันทึก)

"เครื่องลงคะแนนถูกออกแบบมาให้สะท้อนการโหวตของผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้งานสามารถมองเห็นและยืนยันความถูกต้องทั้งบนหน้าจอเครื่องและบนบัตรก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการการนับคะแนน" เกรนเจอร์กล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน

"ไม่มีทางที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะถูกเครื่องบังคับให้เลือกตัวเลือกที่พวกเขาไม่ต้องการก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งในการลงคะแนนจริง"

อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ในประเด็นเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2567 ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา