นี่เป็นวิดีโอฝูงชนปรบมือให้ช่างภาพชาวปาเลสไตน์ ไม่ใช่ 'ชาวดัชต์ดีใจที่แฟนบอลอิสราเอลถูกทำร้าย'

หลังแฟนบอลชาวอิสราเอลถูกทำร้ายในเมืองอัมสเตอร์ดัมระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโรปาลีกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอที่แสดงภาพผู้คนปรบมือและตะโกนว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่ชาวดัชต์แสดงความดีใจที่แฟนบอลชาวอิสราเอลถูกทำร้าย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอต้นฉบับนั้นมาจากงานเสรีภาพสื่อในเมืองอัมสเตอร์ดัมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 โดยที่ผู้เข้าร่วมงานได้ปรบมือให้กับช่างภาพชาวปาเลสไตน์

"ความสุขของชาวดัตช์ หลังจากที่เยาวชนแห่งอัมสเตอร์ดัมได้กระทืบชาวยิวไซออนิสต์" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567

คำบรรยายเดียวกันนี้ระบุต่อว่า "หลังจากที่แฟนบอลทีม 'มัคคาบี้ เทล อาวีฟ' ถูกทุบแบบจัดหนักเมื่อคืนนี้ หลังเกมกับทีม 'อาแจ็กซ์' ที่อัมสเตอร์ดัม ชาวเนเธอร์แลนด์ก็ได้จัดการชุมนุมวันศุกร์ที่ผ่านมา(8 พ.ย.) และแสดงความยินดีและดีใจกับการกระทำของเยาวชนเมื่อคืนนี้"

วิดีโอความยาว 25 วินาทีดังกล่าวเผยให้เห็นผู้คนปรบมือและโบกธงปาเลสไตน์ภายในห้องโถงแห่งหนึ่ง และยังได้ยินเสียงคนตะโกน "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" ด้วย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทย ที่นี่ และ นี่ และในโพสต์ภาษาอังกฤษที่นี่ 

โพสต์เหล่านี้ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์หลังเกิดเหตุแฟนบอลชาวอิสราเอลถูกทำร้ายในกรุงอัมสเตอร์ดัม หลังจบการแข่งขันฟุตบอลยูโรปาลีกระหว่างทีมอาแจ็กซ์จากเนเธอร์แลนด์กับทีมมัคคาบี เทลอาวีฟของอิสราเอล โดยเจ้าบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์ชนะด้วยคะแนน 5-0

ความรุนแรงครั้งนี้เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงกระแสด้านลบต่อชาวยิวและอิสลามที่ขยายวงออกไปทั่วยุโรป โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

AFP รายงานว่า ตำรวจอัมสเตอร์ดัมได้จับกุมผู้ต้องหาหลายสิบคนหลังเกิดเหตุดังกล่าว ในขณะที่ เฟมเค่ ฮัลเซมา นายกเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัม ประณามเหตุการณ์นี้โดยเรียกว่าเป็นค่ำคืนแห่งความรุนแรงที่ "ไม่น่าให้อภัย" เพราะแฟนบอลมัคคาบี เทลอาวีฟของอิสราเอลถูก "ชนแล้วหนี" จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายที่โรงพยาบาล (ลิงก์บันทึก)

ความรุนแรงในวันที่ 7 พฤศจิกายนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นนอกสนามฟุตบอล โดยนายกเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัมระบุว่า "แก๊งคนขับสกู๊ตเตอร์" ได้ก่อเหตุโจมตีแฟนบอลอิสราเอลด้วยการ "ชนแล้วหนี"

อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้ถูกถ่ายไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แฟนบอลอิสราเอลถูกทำร้าย

งานเสรีภาพสื่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบวิดีโอต้นฉบับถูกแชร์ไว้ในโพสต์อินสตาแกรมของโมตาซ อะไซซา ช่างภาพข่าวชาวปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายในโพสต์ระบุว่า "ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานภาพถ่ายสื่อมวลชนโลกในวันนี้ ขอบคุณที่เป็นพลังให้ผมได้ก้าวต่อไป"

อะไซซาเป็นหนึ่งในช่างภาพ 3 คนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนาหัวข้อ "เสรีภาพสื่อ: สำรวจภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง" เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยมูลนิธิเวิล์ดเพรสโฟโต้ (World Press Photo Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรและตั้งอยู่ในอัมสเตอร์ดัม (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์อินสตาแกรมของอะไซซา (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์อินสตาแกรมของอะไซซา (ขวา)

งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องโถงกลางของพิพิธภัณฑ์ De Nieuwe Kerk ซึ่งเคยเป็นโบสถ์เก่ามาก่อน (ลิงก์บันทึก)

โฆษกของ De Nieuwe Kerk ยืนยันกับ AFP ว่า วิดีโอที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้แสดงภาพฝูงชนปรบมือให้กับอะไซซาหลังเขาอภิปราย

"วิดีโอนี้ถูกถ่ายหลังอะไซซาอภิปรายเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในฉนวนกาซา ผู้ชมปรบมือให้กับเขา นั่นคือสิ่งที่คุณเห็นในวิดีโอ" โฆษกระบุกับ AFP ในอีเมลเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567

องค์ประกอบในวิดีโอสอดคล้องกับภาพของ De Nieuwe Kerk ในแผนที่กูเกิลด้วย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพของ De Nieuwe Kerk ในแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพของ De Nieuwe Kerk ในแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง สามารถอ่านรายงานได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา