ภาพ 'ชนเผ่าที่คอยาวที่สุดในประวัติศาสตร์' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ามนุษย์ที่มีลำคอยาวที่สุดในโลกเป็นหญิงชนเผ่าปาดองในประเทศเมียนมา ตรงกันข้ามกับโพสต์เท็จที่แชร์ภาพการค้นพบครอบครัวที่คอยาวที่สุดในป่าแอมะซอน ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบุเช่นกันว่า ภาพที่ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งบนโลกออนไลน์มีองค์ประกอบหลายจุดที่เป็นเบาะแสว่าภาพถูกสร้างด้วยเอไอ

"การค้นพบอันน่าทึ่งในป่าฝนอเมซอน!" เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567

"พบโครงกระดูกยักษ์คอยาวที่สุดในโลก นับเป็นการเปิดเผยประวัติศาสตร์ครั้งใหม่"

โพสต์ดังกล่าวซึ่งได้รับการกดถูกใจมากกว่า 120,000 ครั้งและถูกแชร์ถึง 5,500 ครั้ง แสดงภาพครอบครัวหนึ่งที่มีลำคอยาวผิดปกติและภาพของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีกระดูกคอหลายสิบชิ้นในฟิลเตอร์ภาพสีซีเปีย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567

รูปภาพเหล่านี้ถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยอื่น ๆ รวมถึงภาษาอารบิก อังกฤษ ฮินดี ญี่ปุ่น และสวาฮีลี ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างติ๊กตอก เธรดส์ และ X

นอกจากนี้ บางโพสต์ได้แชร์ภาพของผู้หญิงสวมห่วงที่คอสองคนโดยตรงกลางเป็นผู้ชายในเครื่องแบบทหาร พร้อมระบุว่าเป็นภาพถ่ายจากปี 2403

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567

ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนสังเกตได้ว่านี่ไม่ใช่ภาพจริง แต่ก็มีผู้ที่เชื่อคำกล่าวอ้างเท็จนี้

"บนโลกใบนี้.คงมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกมากมายซินะ" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"โลกยิ่งพัฒนาแต่ความจริงมันก็เปิดเผยขึ้นในเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ" อีกความคิดเห็นปรากฏในโพสต์เดียวกัน

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่างอ้างเท็จจำนวนมากที่อ้างว่ารูปจากปัญญาประดิษฐ์นั้นมาจากเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจคลื่นโหมกระหน่ำที่อ้างว่าเป็นภาพของพายุเฮอร์ริเคนมิลตันในสหรัฐฯ ไปจนถึงวิดีโอปลอมที่อ้างว่าบิลล์ เกตส์ สนับสนุนอดีตนายกฯ อิมราน ข่าน ของปากีสถานหลังข่านถูกตัดสินจำคุก

อย่างไรก็ตาม โพสต์เท็จต่าง ๆ นั้นแชร์ภาพถ่ายจริงเพียงภาพเดียว ส่วนภาพที่เหลือถูกสร้างด้วยเอไอ

ภาพจากเอไอ

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบภาพของผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองที่คอจากหนังสือชื่อ "Scenes From Every Land"

หนังสือรวมภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2450 และมีกิลเบิร์ต โกรส์เวเนอร์ หัวหน้าสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกเป็นบรรณาธิการ โดยสามารถเข้าถึงไฟล์สำเนาของหนังสือเล่มนี้ได้บนเว็บไซต์ของอินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์ (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายระบุว่าเป็นภาพนี้เป็นภาพของผู้หญิงในบริเวณเทือกเขาของรัฐฉานในเมียนมา และเป็นภาพถ่ายโดยอัลเฟรด เจ สมิธ

บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) ปี 2561 ระบุว่า ผู้หญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์ปาดองเป็นมนุษย์ที่มีลำคอยาวที่สุดในโลก โดยกลุ่มชาติพันธุ์นี้อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทยและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา (ลิงก์บันทึก)

บันทึกดังกล่าววัดความยาวของลำคอของพวกเธอได้ถึง 19.7 เซนติเมตร โดยเป็นผลจากการสวมใส่ห่วงทองเหลืองมาเป็นระยะเวลานาน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของรูปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับจากหนังสือ (ขวา):

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของรูปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับจากหนังสือ (ขวา)

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาคำสำคัญอื่น ๆ พบภาพเดียวกันกับในโพสต์เท็จอีกสามภาพปรากฏในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาพระบุว่า "ภาพหลุดครั้งประวัติศาสตร์จากปี 2403 ของครอบครัวที่คอยาวที่สุดในโลกจำนวนสามครอบครัว"

ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่บนติ๊กตอกของบัญชีผู้ใช้งานชื่อ "FunnyAI" ซึ่งระบุที่หน้าโปรไฟล์ของตัวเองว่าเป็นผู้ผลิต "งานศิลปะแปลก ๆ ตลก ๆ จากเอไอ" (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของรูปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับบนติ๊กตอก (ขวา):

Image

Image

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของรูปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับบนติ๊กตอก (ขวา)

ถึงแม้ว่า AFP จะไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของภาพโครงกระดูกยักษ์ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ผ่านการดัดแปลง 

ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวว่าภาพต่าง ๆ มีองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอยู่หลายจุด เช่น ใบหน้าคนที่บิดเบี้ยว ดวงตาของชายในภาพแรกไม่มีลูกตาดำ เส้นของไม้บนกำแพงบ้านขาดความต่อเนื่อง ศีรษะของคนในภาพหายไป รวมถึงชิ้นส่วนกระดูกคอและนิ้วมือที่มีจำนวนมากเกินความเป็นจริง (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของรูปต้นฉบับที่สร้างจากเอไอ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปต้นฉบับที่สร้างจากเอไอ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

"ภาพจากเอไอเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของการเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้อย่างง่ายดาย" ฉู่ หู แสดงความเห็นกับ AFP 

การตรวจสอบภาพด้วย vera.ai เครื่องมือตรวจสอบองค์ประกอบภาพจากโครงการที่ AFP ร่วมเป็นพันธมิตร ระบุผลตรงกันว่ามีแนวโน้มสูงมากที่ภาพเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา