รายงานปลอมอ้างว่า USAID จ่ายเงินให้ดาราเพื่อสนับสนุนผู้นำยูเครน

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก รวมถึงอีลอน มัสก์ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ และฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีชื่อเสียง ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่อ้างว่าองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID จ่ายเงินจำนวนมากให้กับบรรดานักแสดงที่มีชื่อเสียง เช่น แองเจลินา โจลี และ เบน สติลเลอร์ เพื่อเดินทางไปยังประเทศยูเครน เพื่อสนับสนุนความนิยมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ท่ามกลางภาวะสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวไม่ได้มาจากรายงานจริง และสติลเลอร์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

"โห! USAID จ้างเงินอื้อดารา และคนดังไปสร้างละครลวงโลกเชิดชูผู้นำยูเครน" โพสต์ในบล็อกดิตเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

โพสต์เดียวกันนี้ยังเขียนต่อว่า "สื่อสหรัฐรายงานว่า ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา USAID สหรัฐ จ่ายเงินมหาศาล เพื่อจ้างให้เหล่าดารา และคนดังไปเยือนยูเครน เพื่อเพิ่มความนิยมของ เซเลนสกี้ อดีตผู้นำยูเครนที่หมดวาระ แต่ไม่ยอมลงจากอำนาจ ในหมู่ประชากรอเมริกันและชาวโลก โดยจ้างสื่อกระแสหลัก และสื่อในประเทศต่างๆ เพื่อเชิดชูเซเลนสกี้ เป็นฮีโร่อีกด้วย จ้างดาราบางคนแพงถึง 20 ล้านดอลลาร์ หรือ 680 ล้านบาท"

โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปความยาว 36 วินาที ซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปแบบการรายงานวิดีโอของอีนิวส์ (E! News) โดยมีโลโก้ของเว็บไซต์ข่าวบันเทิงดังกล่าวปรากฏอยู่ตลอดคลิป วิดีโอดังกล่าวระบุว่าหน่วยงาน USAID "สนับสนุนให้คนดังชาวอเมริกันเดินทางไปยูเครนหลังรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ" โดยมีจุดประสงค์เพื่อ "เพิ่มความนิยมของเซเลนสกีในหมู่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา"

คลิปวิดีโอยังอ้างด้วยว่า USAID จ่ายเงินให้กับคนดังชาวอเมริกันหลายคน เช่น แองเจลินา โจลี 20 ล้านดอลลาร์ ฌอน เพนน์ 5 ล้านดอลลาร์ ออร์แลนโด บลูม 8 ล้านดอลลาร์ เบน สติลเลอร์ 4 ล้านดอลลาร์ และฌอง-คล็อด แวน แดมม์  1.5 ล้านดอลลาร์ โดยในวิดีโอสะกดชื่อแวน แดมม์ผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้กำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้แชร์คลิปดังกล่าวในบัญชี X ส่วนตัวของเขาซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 216 ล้านคน บนแพลตฟอร์มที่เขาเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายคนโตของประธานาธิบดีทรัมป์ และซิดนีย์ พาวเวลล์ อดีตทนายความของทรัมป์ที่มีบทบาทในการพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้งปี 2563 ก็แชร์วิดีโอดังกล่าวต่อเช่นกัน

โพสต์เหล่านี้มียอดรับชมหลายล้านครั้งทั้งบน X และช่องทางอื่น ๆ ภายหลังมัสก์ประกาศว่าคณะบริหารชุดใหม่ตัดสินใจปิด USAID ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีผู้บริจาคเงินทุนสนับสนุนรายใหญ่ที่สุดให้กับโครงการด้านสาธารณสุขและเหตุฉุกเฉินทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ รวมถึงโครงการริเริ่มส่งเสริมประชาธิปไตยในกว่า 120 ประเทศ

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ของ USAID ถูกปิดลง และพนักงานของหน่วยงานได้รับแจ้งให้พักงาน ทำให้มีการตั้งคำถามว่าการกระทำของมัสก์ผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงความกังวลว่าผลกระทบของการปิดโครงการต่าง ๆ ของ USAID ทั่วโลก

ขณะที่รัสเซียชื่นชมการปิด USAID ของมัสก์ หลังวิพากษ์วิจารณ์องค์กรนี้มายาวนาน

อย่างไรก็ตาม วิดีโอและคำกล่าวอ้างนี้ "ไม่เป็นความจริงและไม่ได้มาจาก E! News" โฆษกของช่องข่าวที่ตกเป็นประเด็นกล่าวกับ AFP ในอีเมลเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568

แม้ว่านักแสดงแต่ละคนที่คลิประบุเคยเดินทางไปเยือนประเทศยูเครนจริง แต่พบหลักฐานว่าเป็นการจ้างโดย USAID

'คำโกหกจากสื่อรัสเซีย'

แองเจลิน่า โจลี่ ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับโครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก เดินทางเยือนยูเครนในปี 2565 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

รายงานที่อ้างถึงโฆษกของสหประชาชาติระบุว่าในขณะนั้น โจลี่เป็นทูตสันถวไมตรีให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และเดินทางไปยูเครนเป็นการส่วนตัว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ฌอน เพนน์ เดินทางไปยูเครนในปี 2565 เพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับเซเลนสกีและสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ในปีเดียวกัน เบน สติลเลอร์ได้พบกับเซเลนสกีขณะเยือนยูเครนในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ส่วนออร์แลนโด บลูมได้พบกับเซเลนสกีในปี 2566 ในฐานะทูตสันถวไมตรีของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) (ลิงก์บันทึกที่นี่  นี่  นี่  นี่ และ นี่)

ส่วนฌอง-คล็อด แวน แดมม์ เดินทางไปยูเครนในปี 2565 "เพื่อส่งสารแห่งความหวังและสันติภาพ" ช่องยูทูบของเขาระบุ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

Image
ภาพนี้ถ่ายและเผยแพร่โดยสำนักข่าวประธานาธิบดียูเครนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ซึ่งแสดงภาพประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนขณะต้อนรับเบน สติลเลอร์ นักแสดงชาวอเมริกัน ระหว่างการประชุมในกรุงเคียฟ (UKRAINIAN PRESIDENTIAL PRESS SERVICE / Handout)

สติลเลอร์ได้โพสต์ข้อความใน X ที่นี่ และ นี่ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 การเดินทางไปยูเครนในปี 2565 ด้วยตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้รับเงินจาก USAID โดยระบุว่า "ไม่มีใครจ่ายเงินให้กับผมอย่างแน่นอน" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

"สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องโกหกที่มาจากสื่อรัสเซีย" สติลเลอร์ระบุในโพสต์แรก "ผมจ่ายเงินของตัวเองเพื่อเดินทางไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยูเครน ผมไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID และแน่นอนว่าไม่มีใครจ่ายเงินให้ผมทั้งสิ้น คำกล่าวอ้างในโพสต์เหล่านั้นเป็นเท็จ 100 เปอร์เซ็นต์"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากโพสต์ X ของเบน สติลเลอร์

UNHCR ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า สติลเลอร์ "ไม่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับงานของเขากับ UNHCR และเขาออกเงินเดินทางไปยูเครนด้วยตัวเอง" (ลิงก์บันทึก)

แนวทางปฏิบัติของสหประชาชาติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ส่งสารแห่งสันติภาพและทูตสันถวไมตรีระบุว่า "ทูตแห่งสันติภาพและทูตสันถวไมตรีจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่พวกเขาอาจได้รับค่าตอบแทนเชิงสัญลักษณ์จำนวน 1 ดอลลาร์ต่อปีหรือเทียบเท่า" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

AFP ไม่พบหลักฐานการจ่ายเงินของ USAID ให้กับบรรดาคนดังเหล่านี้ในเว็บไซต์ usaspending.gov ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางที่เปิดให้เข้าถึงได้แบบสาธารณะ

แดร์เรน ลินวิลล์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สื่อของมหาวิทยาลัยเคลมสันกล่าวผ่าน X เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าคลิปที่อ้างว่าเป็นการรายงานของ E! News นั้น "มีองค์ประกอบจำนวนมากว่านี่เป็นวิดีโอที่รัสเซียจงใจสร้างขึ้น" พร้อมระบุว่าเป็นวิธีเดิม ๆ ของสื่อชวนชื่อรัสเซีย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ลินวิลล์กล่าวว่าบัญชีแรก ๆ ที่แชร์คลิปดังกล่าวใน X มักเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียที่นักวิจัยตั้งชื่อว่า Storm-1516

AFP พบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายทั้งทางเทเลแกรมของรัสเซียและหนังสือพิมพ์ Pravda ของรัสเซีย

วิดีโอปลอมอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ยังใส่ลายน้ำและเพิ่มโลโก้ของสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เพื่อแพร่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับยูเครนท่ามกลางวิกฤตสงคราม

AFP ได้ติดต่อไปยังตัวแทนของโจลี เพนน์ บลูม และแวน แดมม์ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา