
คลิปเอไอถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นภาพความเสียหายในเมียนมาหลังแผ่นดินไหว
- เผยแพร่ วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 06:14
- อัพเดตแล้ว วันที่ 4 เมษายน 2025 เวลา 07:42
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7.7 ที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.)น่าสยดสยอง ซึ่งในเมียนมาร์มีผู้เสียชีวิตทะลุ 1,000 รายแล้ว" ข้อความของโพสต์ X เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ระบุ
วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 860,000 ครั้งและถูกแชร์มากกว่า 22,000 ครั้ง แสดงภาพมุมสูงของเมืองที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง โดยปรากฏให้เห็นเจดีย์ขนาดใหญ่สองแห่งบริเวณเส้นขอบฟ้า

วิดีโอนี้ถูกแชร์ในโพสต์เท็จลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาพม่า จีน อังกฤษ อินโดนีเซีย สเปน ทมิฬ และอูรดู หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมาซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์
แถลงการณ์จากโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ระบุว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วมีทั้งสิ้น 3,085 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 4,715 คน และสูญหาย 341 คน (ลิงก์บันทึก)
โดยคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากเจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาดจากเหตุแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้ได้
หลายพื้นที่ในประเทศไทยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้แม้จะอยู่ห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวหลายร้อยกิโลเมตร โดยเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 30 ชั้นถล่มในกรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 22 ราย
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายรายแสดงความคิดเห็นที่ดูเหมือนจะเชื่อว่าคลิปดังกล่าวมาจากเหตุการณ์จริงในเมียนมา
"ขอแสดงความเสียใจต่อพี่น้องชาวพม่าด้วยนะคะ" ความเห็นหนึ่งระบุ
"สถานการณ์น่าเป็นห่วงมาก" อีกความเห็นกล่าว
'สร้างจาก WAN AI'
การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลโดยการใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จพบวิดีโอที่มีความละเอียดภาพสูงกว่าในโพสต์ X เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568
แม้ว่าโพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นวิดีโอที่สร้างจากเอไอ แต่พบลายน้ำของเครื่องมือ WAN AI ปรากฏอยู่บริเวณมุมขวาล่างของวิดีโอในโพสต์ (ลิงก์บันทึก)

ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติหลายจุดชี้ให้เห็นว่าคลิปดังกล่าวถูกสร้างจากเอไอ
ฉู่ หู ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวกับ AFP ว่าต้นไม้ในคลิปไม่ปรากฏรากชัดเจน และท่าทางการเดินของคนก็ไม่สมจริง (ลิงก์บันทึก)
ซีเหวย หลิ่ว ผู้อำนวยการห้องปฏับัติการทางนิติวิทยาศาสตร์สื่อของมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าวว่าพบจุดสังเกตสำคัญคือลายน้ำของเครื่องมือเอไอ รวมถึงลักษณะของเงาในคลิปก็ไม่สอดคล้องกับแหล่งที่มาของแสงและขนาดของวัตถุ (ลิงก์บันทึก)

แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธียืนยันรูปที่สร้างจากเอไอที่สามารถใช้ได้ผลในทุกกรณี แต่การสังเกตลายน้ำและองค์ประกอบภาพถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรูปที่สร้างจากเอไอยังไม่สมบูรณ์แบบแม้จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็ตาม
อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับประเด็นแผ่นดินไหวในเมียนมาได้ที่นี่
เพิ่มคำในบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญเอไอ ในย่อหน้าที่ 134 เมษายน 2568 เพิ่มคำในบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญเอไอ ในย่อหน้าที่ 13
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา