วิดีโอเจ้าหน้าที่พบผู้รอดชีวิตใต้ซากตึกในกรุงเทพไม่ได้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งให้อาคารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พังถล่ม ในขณะที่ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตเข้าสู่วันที่ห้า คลิปวิดีโอฉบับหนึ่งถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าพบผู้รอดชีวิตรายใหม่ในวันที่ 1 เมษายน อย่างไรก็ตามวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายในวันเดียวกับที่อาคารถล่ม ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันกับ AFP ว่าไม่พบผู้รอดชีวิตเพิ่มในวันที่ 1 เมษายน

"1/04/68 พบผู้รอดชีวิตเพิ่ม 1 ราย ปฎิหารย์มีจริง ขอให้อดทนก่อนนะ ทุกคนกำลังช่วย ส่งกำลังใจให้อีกแรงครับ ข้อมูล: ชยัน สวัสดี" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 เขียนคำบรรยาย

ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอระบุว่า "ปฏิหาริย์มีจริง"

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหนึ่งพูดว่า "โอเค เท้ากระดิก ผมเห็นเท้าพี่ละ อดทนแป๊บนึงพี่"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่ถล่มตอนกลางของเมียนมาร์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยเมืองต่างๆ ที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรสามารถได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและไทย

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ตึกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ได้พังถล่มลงมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เร่งปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และตรวจสอบบริษัทสัญชาติจีนที่สร้างอาคารดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ขณะที่ปฏิบัติการช่วยเหลือเข้าสู่วันที่ 8 เจ้าหน้าที่ในพื่นที่อาคารถล่มระบุกับ AFP ว่า ณ วันที่ 4 เมษายน พบผู้รอดชีวิต 9 คนและร่างผู้เสียชีวิต 15 ราย ขณะที่ผู้สูญหายอยู่ที่เกือบ 80 คน

คลิปดังกล่าวได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางโดยมีผู้กดไลค์มากกว่า 71,000 ครั้งและการแชร์ 8,300 ครั้ง พร้อมคำบรรยายเพื่อเฉลิมฉลองสิ่งที่ผู้ใช้เชื่อว่าเป็นภาพของผู้รอดชีวิตที่ได้รับการช่วยเหลือหลังจากใช้เวลาอยู่ใต้ซากปรักหักพังเป็นเวลาสามวัน

"ดีใจมากพบผู้รอดชีวิตอีก 1 ขอให้เจอแต่ผู้รอดชีวิตเลื่อยๆนะคะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนคำบรรยาย

"ดีใจด้วยกับผู้รอดชีวิตค่ะ" ผู้ใช้งานอีกรายระบุ

อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ไม่ใช่วันที่ 1 เมษายนอย่างที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

จากการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 มีนาคมโดยผู้ใช้งานชื่อ ชยันต์ สวัสดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อ กรุงเทพฯ (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กของชยันต์ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กของชยันต์ (ขวา)

ชยันต์ยืนยันกับ AFP ว่าเขาถ่ายคลิปดังกล่าวด้วยตัวเองในวันแรกที่ตึกพังถล่มลงมา

"ผมถ่ายคลิปนี้เองเมื่อวันแรก [ที่ตึกถล่ม] เลย" ชยันต์กล่าวกับ AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 3 เมษายน "คนที่รอดเป็นผู้ชาย"

คำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ในวิดีโอของชยันต์ยืนยันว่าวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ไม่กี่ชั่วโมงหลังตึกถล่มลงมา (ลิงก์บันทึก)

Image
คำอธิบายชุดข้อมูลในวิดีโอของชยันต์ สวัสดี

ตัวแทนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีรายงานผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม ณ วันที่ 1 เมษายน 2568

AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา