
คลิป 'ตั๊กแตนบัวหิมะ' ถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์
- เผยแพร่ วันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 10:49
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY , AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
วิดีโอรีลแสดงภาพสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายตั๊กแตนที่มีดอกบัวสีขาวอยู่บนหลังขณะกำลังบินมาเกาะมือของชายคนหนึ่งถูกแชร์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568
ข้อความภาษาไทยที่ฝังอยู่ในวิดีโอเขียนว่า "เหมือนดอกบัวจริงเลย ตั๊กแตนดอกบัวหิมะ สวยงามมาก"
คำบรรยายโพสต์ระบุเพิ่มเติมว่า "ตั๊กแตนอะไรสวยมากกกก"

และยังมีวิดีโอเฟซบุ๊กในอีกโพสต์ซึ่งถูกแชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้ง ก่อนจะถูกลบออกจากระบบ
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในโพสต์เท็จภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลี
นอกจากนี้ยังมีคลิปของแมลงอีกชนิดที่มีดอกกุหลาบอยู่บนหลัง ซึ่งถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเดียวกันว่าเป็นคลิปของตั๊กแตนดอกบัวหายากซึ่งพบได้ในประเทศจีนเท่านั้น

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบวิดีโอต้นฉบับเผยแพร่บนบัญชีอินสตาแกรมของผู้ใช้งานชื่อ "oleg.pars" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
บัญชีดังกล่าวเผยแพร่คลิปและภาพจากเอไอเกี่ยวกับแมลงที่มีลักษณะเหนือจริงจำนวนมาก เช่น แมงมุมหลังคริสตัล ตัวต่อหิมะ และหนอนผีเสื้อที่มีลำตัวเป็นดอกเดซี่
โอเลก พาร์เชนเซิฟ ผู้ใช้งานเจ้าของบัญชีดังกล่าว นิยามตัวเองว่าเป็น "ศิลปินแนวสื่อผสม" บนเว็บไซต์ของเขา (ลิงก์บันทึก)
หนึ่งในองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติคือมือของชายในคลิปแรกที่มีนิ้วมือหกนิ้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดของเอไอที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับ AFP ว่าสามารถใช้สังเกตและระบุเนื้อหาที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ โพสต์ต่าง ๆ ในบัญชีดังกล่าวยังระบุชื่อโปรแกรมเอไอที่ใช้ในการสร้างวิดีโอ เช่น ฟลักซ์ คลิง และเอเลเวนแล็บส์ และยังใช้ #เอไอ และ #ศิลปะดิจิทัล อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จอื่น ๆ เกี่ยวกับภาพสิ่งมีชีวิตเหนือจริงที่สร้างด้วยเอไอ เช่น ภาพแอกโซลอเติล ปลาหมึกยักษ์ และกุ้งล็อบสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา