ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนอย่าเชื่อคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับการรับประทานมะระเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 24 มิถุนายน 2020 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่ามะระขี้นกมีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็ง ได้ถูกแชร์ออกไปหลายร้อยครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด สถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม” และกล่าวว่า แม้การบริโภคมะระจะดีต่อสุขภาพแต่ไม่ถือเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ

คำกล่าวอ้างได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 400 ครั้ง

Image

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “น้ำมะระขี้นกร้อน จะออกสารต้านมะเร็ง ซึ่งเป็นผล ล่าสุด ในการรักษา โรคมะเร็ง ที่มีประสิทธิภาพ ในด้านการแพทย์ น้ำมะระร้อนๆ มีผลต่อซีสต์ และ เนื้องอก พิสูจน์แล้วว่า สามารถรักษา โรคมะเร็ง ได้ทุกชนิด”

“การรักษาด้วยสารสกัดจาก มะระขี้นกนี้ จะทำลายเซลล์มะเร็งเท่านั้น และไม่ส่งผลต่อเซลล์ ที่มีสุขภาพดี”

คำกล่าวอ้างเดียวกันเกี่ยวกับมะระได้ถูกแชร์ตั้งแต่ปี 2552 ที่นี่ และถูกนำมาแชร์อีกครั้งผ่านทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่ นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างเดียวกันยังได้ถูกเผยแพร่ที่นี่ในปี 2558 โดยสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลและสถิติด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยืนยันว่า คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

สถาบันมะเร็งแห่งชาติกล่าวว่า ถึงแม้มะระจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มะระไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับโรคมะเร็ง Thai Cancer News เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 โดยพาดหัวของรายงานเขียนว่า “ข่าวปลอมอย่าแชร์! มะระร้อนมีผลต่อซีสต์และเนื้องอกสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด”

เนื้อบางส่วนของรายงานเขียนว่า “มีรายงานวิจัยระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติการพบว่ามะระขี้นกมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนช่วยต้านเซลล์มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำมะระขี้นกร้อนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งและไม่สามารถนำมารักษาโรคมะเร็งได้”
 

Image

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้เช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ในรายงานฉบับนี้ โดยเขียนว่า “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แจ้งเตือนข่าวปลอม “มะระร้อนมีผลต่อซีสต์ เนื้องอกและสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด”

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทยอสมท. ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับมะระในวิดีโอนี้ซึ่งถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคมะเร็งอย่างผิดๆ เช่นการดื่มน้ำเย็นและการตัดน้ำตาลออกจากโภชนาการ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา