แม่ค้าขายผลไม้ใช้มีดปอกเปลือกสับปะรดในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ( AFP / NHAC NGUYEN)

ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ว่าน้ำสับปะรดร้อนสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้จริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 20 กันยายน 2564 เวลา 11:38
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าน้ำสับปะรดร้อนสามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง ได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ค คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าน้ำสับปะรดสามารถใช้รักษาหรือป้องกันโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: “น้ำสับปะรด ร้อน สามารถช่วยคุณได้ ตลอดชีวิต” และ “น้ำสับปะรด ร้อน สามารถ ฆ่าเซลล์มะเร็ง ได้”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในปี 2564 ที่นี่ นี่และนี่ และในปี 2563 ที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ของประเทศอินโดนีเซียที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญไม่สนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ไม่มีหลักฐานเพียงพอ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้สับปะรดจะมีสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ยืนยันได้ว่า ผลไม้ดังกล่าวสามารถรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพในมนุษย์

ศาสตราจารย์ Aru Wisaksono Sudoyo ประธานของมูลนิธิมะเร็งแห่งประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่าการใช้สับปะรดสำหรับการรักษาโรคมะเร็งนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ

“เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่น ทั้งแอปเปิลและอะโวคาโด สับปะรดนั้นดีต่อสุขภาพ ผลไม้เหล่านี้มีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมและช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น” เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564

เขาอธิบายว่า “ถึงแม้การบริโภคสับปะรด ผักและผลไม้ดีต่อสุขภาพ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง แต่มันไม่ได้เทียบเท่ากับการรักษาทางการแพทย์”

โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์กลุ่มหนึ่งที่พบในสับปะรด ถูกวิจัยว่าเป็นอาหารเสริมเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในการศึกษาในหลอดทดลอง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยในมนุษย์เพียงพอที่จะสามารถสรุปถึงประสิทธิภาพของมันได้

“บางอย่างที่ใช้ได้ผลในห้องทดลอง ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในชีวิตจริง” Aru กล่าว

Dr. Raymond Chang ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในนครนิวยอร์ก และผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง Beyond the Magic Bullet: The Anti-Cancer Cocktail กล่าวว่างานวิจัยเกียวกับผลของสับปะรดต่อเซลล์มะเร็งเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลอง

“เราต้องแยกการทดลองในห้องแล็บและความเป็นจริง” Chang อธิบายในอีเมลกับ AFP เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 “สิ่งของในธรรมชาติหลายๆ อย่างสามารถ “ฆ่าเซลล์มะเร็ง” ได้ในสภาพแวดล้อมที่จำลองขึ้นในห้องแล็บ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะใช้ได้จริงเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์”

“ไม่มีอาหารมหัศจรรย์”

โฆษกของสถาบันมะเร็งแห่งชาติฝรั่งเศส ยืนยันกับ AFP ก่อนหน้านี้ว่า “ไม่มีอาหารมหัศจรรย์” ที่จะสามารถช่วยรักษามะเร็งได้

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าอาหารชนิดต่างๆ เช่น ทุเรียนเทศ กระเทียมดำ และมะระขี้นก เกี่ยวกับสรรพคุณในการใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็ง 

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มสับปะรด ว่าเป็นยาธรรมชาติที่สามารถใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ไปแล้วก่อนหน้านี้

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา