ตำรวจเผยจับกุมจากดีเอ็นเอเหงื่อคนร้ายนั้นไม่เป็นความจริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 30 มกราคม 2020 เวลา 12:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายนี้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์พร้อมข้อความที่อ้างว่าชายในภาพคือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะพยายามปิดทางหนีมือปืนปล้นร้านทอง ข้อความในโพสต์กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บหลักฐานสำคัญ เป็นดีเอ็นเอเหงื่อคนร้ายได้เพราะการเสียสละของชายในภาพ ชายคนนี้ที่ถูกมือปืนยิงเสียชีวิตจริง แต่คำกล่าวอ้างเรื่องหลักฐานการจับกุมจากเหงื่อคนร้ายนั้นไม่เป็นความจริง ตำรวจยืนยันว่าสืบสวนจากกระบอกเก็บเสียงและคำให้การของพยาน

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 และได้ถูกแชร์ถึง 6,400 ครั้ง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด)

ข้อความในโพสต์เขียนว่า:

“ขอสรรเสริญในความกล้าของนาย ธีระฉัตร นิ่มมา รปภ.ห้างที่เอาชีวิตเข้าแลกวิ่งไปกดปิดประตูอัตโนมัติจนถูกคนร้ายยิงเสีย ชีวิตแต่ความกล้าหาญนั้นก็ไม่สูญเปล่าเพราะมันทำให้ตำรวจได้มาซึ่งพยานหลักฐานสำคัญที่สุด คือ เหงื่อของคนร้าย เพราะจำเป็นต้องใช้ตัวกระแทกประตูออกไป ทำให้เหงือไปติดอยู่ที่ประตู (ที่มั่นใจว่าเป็นเหงื่อของคนร้ายเนื่องจากเป็นประตูอัตโนมัติ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยมีใครไปแตะ) ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จึงสามารถนำ DNA จากเหงื่อไปเทียบกับ DNA คนร้ายได้ เป็นหลักฐานมัดตัวอย่างดีชนิดที่ดิ้นไม่หลุด ขอคารวะ และสรรเสริญฮีโร่ที่คนมองข้ามด้วยใจครับ #นี่แหละประเทศไทย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563  หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่ากรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ก่อเหตุจี้ชิงทองในห้างโรบินสัน เมืองลพบุรี จนมีผู้เสียชีวิต 3 ศพ

ข้อความคล้ายๆ กันยังได้ถูกแชร์ออกไปในอีกหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กเช่น นี่ นี่ นี่ นี่ และ นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่ นี่ นี่ นี่ นี่ และ นี่

ข้อความที่อยู่ในโพสต์เหล่านี้ไม่เป็นความจริง ตำรวจยืนยันว่าการสืบสวนไม่ได้มีการเก็บหลักฐานเป็นดีเอ็นเอจากเหงื่อตามที่เป็นกระแสข่าวทางออนไลน์

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. ชี้แจงระหว่างแถลงข่าวว่าการจับกุมผู้ต้องหาปล้นร้านทอง ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า “รายละเอียดเนี่ยมีนะครับ เพียงแต่ว่าที่เป็นเหงื่อเนี่ยไม่ใช่นะครับ ผมจะได้ตัดปัญหาไป พูดเรื่องเหงื่ออะไรเนี่ยไม่มีนะครับ … ไอที่เป็นพูดกันเรื่องเหงื่อเนี่ยผมขออนุญาตนะครับ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

สื่อไทยยังรายงานที่นี่และนี่ว่าตำรวจยืนยันตัวตนมือปืนได้คำให้การของพลเมืองท้องถิ่นและโดยการยืนยันปืนและกระบอกเก็บเสียงที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ

ขณะที่ภาพที่ถูกนำมาใช้ในโพสต์เป็นภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เสียชีิวิตจริง

AFP ได้ติดต่อไปยังเพื่อนของผู้ตายที่โพสต์ภาพขาวดำที่ถูกนำไปใช้ในโพสต์ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อนของรปภ. พูดคุยกับ AFP ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ว่าเขานำภาพต้นฉบับจากบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ตายมาปรับเป็นภาพขาวดำหลังจากทราบข่าวการเสียชีวิต

พีพีทีวี ช่องทีวีดิจิตัล ได้นำเสนอภาพถ่ายจากงานศพของผู้ตายในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563

ด้านล่างเปรียบเทียบภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก (ซ้าย) กับภาพจากรายงานข่าวของพีพีทีวี (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก (ซ้าย) กับภาพจากรายงานข่าวของพีพีทีวี (ขวา)

พาดหัวข่าวของพีพีทีวีเขียนว่า “ครอบครัวหน.รปภ.โรบินสัน ห่วงลูก 3 คนยังเล็ก หลังถูกโจรปล้นทองยิงเสียชีวิต”

ภาพในรายงานข่าวตรงกับภาพถ่ายจากงานศพของผู้ตายที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กโดยสมาชิกครอบครัวผู้เสียชีวิต

 

 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา