ทหารยูเครนที่ปกป้องเกาะถูกจับเป็นเชลยโดยรัสเซีย ไม่ได้ถูกสังหาร
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 มีนาคม 2022 เวลา 10:21
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “สัญญานวิทยุบนเกาะ Snake Island ที่มีทหารยูเครนประจำการ 13 นาย โดยเรือรบรัสเซียขอให้ทหาร 13 นายยอมจำนน แต่ทหารยูเครนไม่ยอม”
“ทหารยูเครนตอบกลับไปว่า : ถึงเรือรบรัสเซีย ไปตายซะ!!”
“ทหารยูเครน 13 นายเสียชีวิตทั้งหมดครับ”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก และถูกรายงานโดยสื่อจากประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งคำกล่าวอ้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ถูกเผยแพร่ออนไลน์ เกี่ยวกับสงครามที่เกิดจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของยูเครนประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าเกาะ Zmiinyi (Snake) ซึ่งเป็นเกาะยุทธศาสตร์ขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในทะเลดำ โดยเกาะดังกล่าวตกเป็นเป้าหมายของเรือรบรัสเซีย ต่อมาได้มีแถลงการณ์ว่าเกาะดังกล่าวถูกรัสเซีย “ยึดครอง” และขาดการติดต่อกับกำลังพลทั้งหมดบนเกาะ
Anton Gerashchenko ที่ปรึกษาของกระทรวงกิจการภายในของยูเครนอธิบายในโพสต์ทางเฟซบุ๊กว่าทหารเฝ้าชายแดน 13 นายได้ถูก “สังหาร” พร้อมแชร์คลิปบันทึกเสียงการสื่อสารทาง Telegram โดยคลิปเสียงดังกล่าวได้ถูกแชร์ออนไลน์อย่างกว้างขวาง
ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ยกย่องทหารกลุ่มดังกล่าวในสุนทรพจน์ โดยกล่าวว่าพวกเขาเสียชีวิตอย่างเป็นวีรบุรุษ แต่สื่อรัสเซีย TASS รายงานว่า Igor Konashenkov โฆษกของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย กล่าวว่ากองกำลังทั้ง 82 นายของกองทัพยูเครนยอมแพ้และเข้ามอบตัว
ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กองทัพเรือของยูเครนได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางเฟซบุ๊ก โดยกล่าวว่าทหารที่ประจำการอยู่บนเกาะ Snake Island ไม่ได้เสียชีวิต แต่ถูกจับเป็นเชลย โดยเนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า: “เราดีใจที่ได้ทราบข่าวว่าพี่น้องของเรายังมีชีวิตอยู่”
อย่างไรก็ตาม โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ที่แชร์คำกล่าวอ้างว่าพวกเขาถูกสังหาร ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาโพสต์และยังคงแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
Arnaud Mercier ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย Paris-II Panthéon-Assas ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการสื่อสารทางการเมืองระหว่างสงครามในอิรัก อธิบายว่าสถานการณ์นี้เป็นการสะท้อนถึง “ม่านหมอกแห่งสงคราม” และ “ความต้องการโฆษณาชวนเชื่อ” จากทั้งสองฝ่าย
“เจ้าหน้าที่ฝั่งยูเครน เลือกที่จะชอบตีความมากกว่ารอการยืนยัน เพื่อสร้างวีรกรรมในสงครามครั้งแรก” Mercier กล่าว
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การที่กองทัพรัสเซียอ้างว่ายูเครนแต่งเรื่องขึ้นเพื่อนำใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ “พวกเขาพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนว่าการเสียสละของวีรบุรุษในยูเครนเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น” เขากล่าว
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา