นี่ไม่ใช่การประมูล “รถถังรัสเซีย” บนเว็บไซต์ eBay
ภาพถ่ายรถถังที่ดูเหมือนเป็นรายการสินค้าบนเว็บไซต์ประมูล eBay ได้ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นรถถังรัสเซียที่ถูกชาวนายูเครนยึดและนำมาขาย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพรถถังดังกล่าวเป็นภาพสต็อกที่ถูกเผยแพร่ออนไลน์มาตั้งแต่อย่างน้อยในปี 2552 ขณะที่โฆษกของ eBay ยืนยันกับ AFP ว่ารายการดังกล่าวไม่ใช่สินค้าที่วางจำหน่ายจริง ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทอีคอมเมิร์ซไม่อนุญาตให้ซื้อขายอุปกรณ์ทางทหารบนแพลตฟอร์ม
ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “ชาวนายูเครนก็นำรถถังรัสเซียมาประกาศขายบน Ebay 4 แสนเหรียญ และกลุ่ม Anonymous แฮกเกอร์ชื่อดังประกาศให้รางวัลเป็นบิตคอยน์มูลค่า 52,000 USD แก่ทหารรัสเซียที่ยอมแพ้เอารถถังมาแลกหนึ่งคัน”

โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพที่ดูเหมือนกับสินค้าบนเว็บไซต์ “รถถัง T-72 มือสองของรัสเซีย” พร้อมคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ชาวยูเครนนำรถถังใช้แล้วของรัสเซียมาขายบน eBay”
ภาพถ่ายนี้ถูกแชร์ออนไลน์ภายหลังยูเครนยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย ท่ามกลางการรุกรานประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตของประธานาธิบดีปูติน
สำนักข่าว InterFax ของยูเครนรายงานว่า NAPC หน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นได้ออกมาแถลงว่า อาวุธที่พลเรือนหรือทหารยูเครนยึดได้ ไม่จำเป็นต้องถูกนำมาสำแดงเป็นรายได้สำหรับการเสียภาษี
องค์การสหประชาชาติเผยว่าความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 1,400 คน ท่ามกลางวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ทำให้มีผู้อพยพหลายล้านคนหลบหนีไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับยูเครน
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กเป็นภาษาอังกฤษที่นี่ นี่และนี่ ภาพเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางทวิตเตอร์ เรดดิต และติ๊กตอก
อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกตัดต่อ
โฆษกของ eBay ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่โฆษณาจริงบนเว็บไซต์ eBay “โพสต์เหล่านี้ไม่ได้แสดงภาพของรายการสินค้าที่ถูกวางจำหน่ายบน eBay”
ข้อมูลบนเว็บไซต์ eBay ระบุว่าการขายสินค้าประเภททหารบนแพลตฟอร์มนั้นจะสามารถทำได้ “อย่างจำกัด” โดยอนุญาตเฉพาะสินค้าอย่างเสื้อเกราะ แต่ไม่อนุญาตให้ขาย “วัตถุระเบิดและสรรพาวุธทหารทาง eBay”
“ยานพาหนะทหาร ซึ่งรวมไปถึงอากาศยานและเรือ และชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เสริม” จะไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของเว็บไซต์
การค้นหาด้วยคำสำคัญบนเว็บไซต์ eBay และกูเกิล ไม่พบผลลัพธ์ของโฆษณาดังกล่าว ที่ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก
การค้นหาภาพรถถังในโพสต์ดังกล่าวย้อนหลัง พบว่าเป็นภาพถ่ายของรถถัง T-72 ของรัสเซียจริง แต่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2553 ที่นี่ ในเว็บไซต์ DefenceTalk ที่เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารด้านการทหาร
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพบนเว็บไซต์ DefenceTalk (ขวา):

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในประเทศยูเครนที่นี่