นี่เป็นคลิปวิดีโอติ๊กตอกที่ตัดต่อโดยการใช้กรีนสกรีน ไม่ใช่เหตุการณ์ประท้วงในรายการข่าวจริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 09:15
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ภาพถ่ายผู้หญิงคนหนึ่งชูป้ายประท้วงในสตูดิโอข่าว ได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเธอเป็นผู้ประท้วงที่บุกรายการข่าวเพื่อเรียกร้องให้ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน “ยอมแพ้” อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายนี้ถูกนำมาจากคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ทางติ๊กตอก และเป็นการตัดต่อภาพโดยการใช้กรีนสกรีน ขณะที่การตรวจสอบเทปบันทึกรายการข่าวต้นฉบับ ไม่พบการประท้วงระหว่างการออกอากาศ

คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เขียนว่า “ชาวยูเครน เรียกร้องให้เซเลนสกียอมจำนน ระหว่างที่รายการโทรทัศน์ในยูเครนกำลังออกอากาศอยู่ สตรีกล้าหาญนางหนึ่งชาวยูเครนได้ชูป้ายตัวอักษร

ข้อความที่ผู้หญิงในภาพถือ แปลเป็นภาษาไทยว่า “เซเลนสกี ยอมแพ้ซะ เลิกเล่นยาแล้วกลับไปเล่นตลกบนเวทีเหมือนเดิม”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการโต้ตอบต่อเหตุการณ์ที่พนักงานคนหนึ่งถือป้ายประท้วงในรายการข่าวเย็นของประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 โดยเธอถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “No war” และประณามกิจกรรมทางทหารของมอสโกในประเทศยูเครน

Marina Ovsyannikova เล่าว่าเธอทำงานที่ Channel One ในตำแหน่งบรรณาธิการ เธอถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและถูกศาลในมอสโกพิพากษาลงโทษโดนการปรับเงินจำนวน 30,000 รูเบิล (ประมาณ 12,000 บาท) แม้ว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่เธอยังมีโอกาสถูกจำคุกเป็นเวลาหลายปี ภายใต้กฏหมายใหม่ที่เข้มงวดในประเทศรัสเซีย สำนักข่าว AFP รายงาน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ได้เข้ามาเขียนคอมเมนต์ว่าเชื่อว่าภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว เป็นการประท้วงจริงในรายการข่าวของประเทศยูเครน

คอมเมนต์หนึ่งเขียนว่า: “บ้านเราคงเรียกว่า เลิกเมากาวได้แล้วนะคะ ”

อีกคอมเมนต์หนึ่งเขียนว่า “ช่องรัสเซีย ชูป้าย ยูเครนก้อชูบัฟกับ ในเรามีเขาในเขามีเรา”

ภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์มากกว่า 900 ครั้งในโพสต์คล้ายๆ กันทางเว่อป๋อที่นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ และทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายนี้ไม่ได้แสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

การค้นหาภาพย้อนหลัง พบคลิปวิดีโอนี้ที่ถูกเผยแพร่ทางติ๊กตอก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565

คลิปวิดีโอความยาว 7 วินาที ถูกโพสต์ลงติ๊กตอกโดยผู้หญิงที่มีชื่อว่า Olga Stiffler ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 36,000 คน และใบหน้าของเธอตรงกับผู้หญิงที่อยู่ในคลิปวิดีโอ

การตรวจสอบคลิปวิดีโอพบกว่าช่วงวินาทีที่ 0:03 แขนซ้ายของเธอโปร่งแสงและสามารถเห็นภาพด้านหลัง เช่นเดียวกับไหล่ขวาของเธอในช่วงวินาทีที่ 0:05

Image
Image

Stiffler โพสต์คลิปวิดีโอที่ใช้การคีย์ภาพด้วยกรีนสกรีนในหลายวิดีโอที่มีเนื้อหาสนับสนุนรัสเซีย เช่นที่นี่และนี่

เธอโพสต์คลิปวิดีโอเดียวกันและภาพถ่ายของป้ายประท้วง ลงในเทเลแกรม พร้อมคำบรรยายภาษารัสเซียว่า “นี่เป็นชุดภาพที่ถ่ายด้วย green screen!!! ฉันไม่นึกว่ามันจะออกมาสมจริงขนาดนี้”

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ Ukraine 24 ในประเทศยูเครน ไม่พบการประท้วงในรายการข่าวดังกล่าว


ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และรายงานข่าวต้นฉบับ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และรายงานข่าวต้นฉบับ (ขวา)

สถานีโทรทัศน์ดังกล่าว อธิบายในโพสต์ทางเฟซบุ๊กว่าภาพถ่ายหน้าจอดังกล่าว ไม่ใช่ภาพจริง

ศูนย์ยุทธศาสตร์การสื่อสารของรัฐบาลยูเครน ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับคลิปวิดีโอดังกล่าวในโพสต์ทางเทเลแกรม

โพสต์ของรัฐบาลยูเครนแปลเป็นภาษาไทยว่า “ข่าวปลอม!! ฟาสซิสต์รัสเซียแต่งภาพเพื่อตอบโต้ต่อเหตุการณ์ของ Channel One”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา