องค์การอนามัยโลกไม่ได้อนุมัติอาหารเสริมไทยที่อ้างว่าใช้ “ป้องกันโรค Long Covid”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 6 มิถุนายน 2022 เวลา 06:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “WHO ยืนยันว่า protein resveratrol และ probiotic ช่วยป้ovกันอาการ Long Covid ได้จริง #ดีจังเรเนต้ามีครบ”
Renatar คือบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในประเทศไทย
เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าในผลิตภัณฑ์จะมีส่วนผสมของโปรตีน ขณะที่เครื่องดื่มดีท็อกซ์ Fiber X มีส่วนผสมของ resveratrol และ probiotics
โฆษกของ Renatar ยืนยันกับ AFP ว่าทางบริษัทไม่ได้อ้างว่าสินค้าดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันโรคลองโควิด (Long Covid) ขณะเดียวกัน AFP ก็ไม่พบคำกล่าวอ้างดังกล่าวบนเว็บไซต์ของ Renatar
อาการลองโควิด (Long Covid) หรืออาการภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 หมายถึงปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางคนอย่างต่อเนื่องแม้จะหายจากการติดเชื้อไปแล้ว เช่นอาการเหนื่อยล้า ไข้ หรืออาการไอ
ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับอาการดังกล่าว
คำกล่าวอ้างดังกล่าว ถูกเผยแพร่ทางเฟซบุีกที่นี่ นี่และนี่
คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้ถูกแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต้องออกมาเตือนเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือและอันตรายต่อสุขภาพ
ในประเทศไทย คำแนะนำในการป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว ตั้งแต่การใช้หอมแดง และยาปฏิชีวนะ ไปจนถึงการใช้สเปรย์พ่นคอ ได้ถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ระหว่างที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว
“ไม่มีวิธีการป้องกันลองโควิด (Long Covid)”
องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าไม่ได้อนุมัติสินค้าของ Renatar เพื่อป้องกันลองโควิด
“องค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำการรักษาชนิดไหนเพื่อป้องกันอาการลองโควิด นอกเหนือจากการป้องกันโรคโควิด-19” ตัวแทนของหน่วยงานสาธารณสุขนานาชาติดังกล่าวยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565
การค้นหาข้อมูลทางการของ WHO ไม่พบรายงานว่ามีการอนุมัติ Renatar หรือส่วนผสมอื่นๆ ในโพสต์ที่อ้างว่าสามารถใช้ป้องกันอาการลองโควิด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโพสต์ดังกล่าวได้แชร์คำแนะนำเท็จ
“ไม่มีหลักฐานว่าสารที่ถูกกล่าวถึงในโพสต์ มีสรรพคุณในการป้องกันอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 วิธีการป้องกันลองโควิดที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ยืนยันกับ AFP ว่า “ปัจจุบันยังไม่มีสารที่สามารถป้องกันอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 ได้”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา