ภาพ 'เด็กหญิงอัฟกันช่วยเหลือเสือดาวหิมะ' เป็นภาพที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

  • เผยแพร่ วัน 24 พฤษภาคม 2024 เวลา 09:14
  • อัพเดตแล้ว วัน 24 พฤษภาคม 2024 เวลา 11:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ภาพเด็กผู้หญิงนั่งข้างเสือตัวหนึ่ง พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าภาพดังกล่าวมาจากเหตุการณ์จริงที่เด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานช่วยเหลือและเลี้ยงดูเสือดาวหิมะ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยผู้สร้างภาพดังกล่าวได้ยืนยันกับ AFP ว่าเขาสร้างภาพนี้ด้วยโปรแกรม AI ที่เรียกว่า Midjourney

"เด็กหญิงอัฟกันผู้น่าทึ่ง ช่วยชีวิตเสือดาวหิมะตั้งแต่ยังเป็นทารก  เธอเลี้ยงดูและดูแลมันจนกระทั่งลูกเสือพร้อมที่จะกลับไปยังเทือกเขาปามีร์" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567

คำบรรยายเดียวกันนี้ยังระบุต่อว่า "ปัจจุบัน เสือดาวหิมะผู้สง่างามมาเยี่ยมเธอบ่อยครั้ง โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับเธอ  ความผูกพันระหว่างเด็กผู้หญิงกับสัตว์นี้ซาบซึ้งและแสดงให้เห็นว่าความมีน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดได้"

ภาพในโพสต์ยังแสดงให้เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ เสือดาวหิมะ โดยมีภูเขาที่หิมะปกคลุมเป็นฉากหลัง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

ภาพเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาไทย ที่นี่นี่ และ นี่ ภาษาอูรดู ที่นี่ และภาษาอังกฤษ ที่นี่ และ นี่

ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนเข้ามาเขียนข้อความที่ระบุว่าพวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวมาจากเหตุการณ์จริง

"ภาพที่มีเอกลักษณ์และสวยงามเช่นนี้ควรได้รับรางวัลระดับนานาชาติ" ผู้ใช้งานรายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"ความเมตตาไร้พรมแดน!" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายระบุ 

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกสร้างด้วยโปรแกรม AI

ภาพที่สร้างด้วย AI

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในอินสตาแกรมตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2567 ในบัญชีของผู้ใช้ชื่อ @babrakk (ลิงก์บันทึก)

ภาพนี้ที่ถูกเผยแพร่บนอินสตาแกรม มีลายน้ำที่เขียนว่า "Midjourney" อยู่ที่มุมขวาบน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าภาพนี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ AI

"ชิรินและสหายผู้ดุร้ายของเธอ นับเป็นคู่หูที่ยอดเยี่ยม" คำบรรยายในโพสต์ดังกล่าวระบุ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์อินตาแกรม โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นลายน้ำที่มุมขวาบน

เจ้าของบัญชี ซึ่งชื่อว่า บาบรัก ข่าน ได้ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ว่า เขาสร้างภาพดังกล่าวโดยใช้โปรแกรม Midjourney ซึ่งเป็นโปรแกรม AI ที่สามารถสร้างภาพได้จากคำสั่งข้อความ

"ใช่แล้ว ผมสร้างนี้ภาพนี้ด้วยโปรแกรม Midjourney" เขายืนยันกับ AFP

"ผมใช้ AI เพื่อสร้างจินตนาการของตัวเองให้กลายเป็นความเป็นจริงในโลกดิจิทัล" ข่านกล่าวกับ AFP โดยเขายังเสริมว่างานศิลปะของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์อินสตาแกรม (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์อินสตาแกรม (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่แชร์ภาพที่สร้างโดย AI เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา