ผู้หญิงที่นั่งอยู่หลังทรัมป์ระหว่างเหตุลอบยิงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ FBI ตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากแชร์โพสต์ที่อ้างว่าเหตุลอบยิงโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เป็น "คำสั่งจากภายในองค์กร" เพราะเจนีน ดิกุยเซปปี ผู้ช่วยผู้อำนวยการของเอฟบีไอ นั่งอยู่ด้านหลังทรัมป์และส่งสัญญาณกับผู้ก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่นั่งอยู่หลังทรัมป์ในคลิปวิดีโอไม่ใช่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอตามที่ถูกกล่าวอ้าง ผู้หญิงในคลิปวิดีโอและดิกุยเซปปีมีลักษณะใบหน้าที่แตกต่างกัน ขณะที่เอฟบีไอระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ "เป็นเท็จอย่างแน่นอน"

"นั่นไง! คนนั่งลับๆล่อๆหลังทรัมป์ กลายเป็นคนสำคัญ" เพจเฟซบุ๊กชื่อ "World Update" เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ลิงก์จากบล็อกดิท ซึ่งเขียนคำบรรยายต่อว่า "มีรายงานว่า คนที่นั่งบนแสตนด์ ด้านหลังวันลอบสังหารทรัมป์ ที่รัฐเพนซิลวาเนีย คือ Janeen Diguiseppi ผู้ช่วยผู้อำนวยการ FBI จากภาพย้อนหลังเธอจะคอยชูป้าย คล้ายระบุพิกัดของเครื่องวัดระยะทางมือปืน ไม่เคยขยับเขยื้อนเมื่อทรัมป์มอบลงไปที่พื้น แต่คอยถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกการลอบสังหาร"

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่เปรียบเทียบระหว่างดิกุยเซปปีกับผู้หญิงที่สวมแว่นกันแดดและหมวก ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังทรัมป์ระหว่างการปราศรัยในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย

คำกล่าวอ้างนี้เริ่มต้นจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้นามแฝงว่า "Dom Lucre" ที่มีแนวคิดสนับสนุนคิวอะนอน (QAnon) หรือทฤษฎีสมคบคิดแบบขวาจัด โดยบัญชีดังกล่าวเคยเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จ และยังเคยถูกระงับการใช้งานใน X เพราะมักโพสต์ภาพที่มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์จากบล็อกดิทที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ


คำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันนี้ถูกแชร์ในภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่ โดยโพสต์เหล่านี้ถูกแชร์หลังมือปืนเปิดฉากยิงระหว่างการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการปราศรัยเสียชีวิต 1 ราย และผู้เข้าร่วมอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนทรัมป์ระบุว่า "กระสุนเจาะเข้าที่ใบหูข้างขวาของผม" (ลิงก์บันทึก)

"เธอรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น!!" โพสต์ X โพสต์หนึ่งกล่าวถึงดิกุยเซปปี ซึ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งในปี 2566 หลังดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานภาคสนามของ FBI ในเมืองออลบานี นิวยอร์ก

ส่วนอีกโพสต์เรียกดิกุยเซปปีว่าเป็น "ผู้สมรู้ร่วมคิด"

เอฟบีไอระบุว่ามือปืนที่ก่อเหตุชื่อ โธมัส แมทธิว ครุกส์ วัย 20 ปี จากเบเธลพาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย (ลิงก์บันทึก)

เจ้าหน้าที่สืบสวนสรุปว่าครุกส์ลงมือก่อเหตุโดยลำพัง แม้จะไม่สามารถยืนยันเกี่ยวกับแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของเขาได้อย่างแน่ชัดก็ตาม

เอฟบีไอกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมว่า ผู้หญิงที่ปรากฏในวิดีโอในโพสต์เท็จ "ไม่ใช่ผู้ช่วยอธิบดีดิกุยเซปปี"

"ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับผู้บริหารเอฟบีไอและงานปราศรัยในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ที่แพร่กระจายทางสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นเท็จอย่างแน่นอน และเรายืนยันว่าบุคคลที่ปรากฎในวิดีโอไม่ใช่ดิกุยเซปปี และเธอไม่ได้เข้าร่วมการปราศรัยดังกล่าว"

เอฟบีไอกล่าวว่า คำกล่าวอ้างเท็จที่โจมตีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นเป็นการกระทำที่ "ควรถูกประณามและขาดความรับผิดชอบ” และอาจทำให้ "พวกเขาและครอบครัวถูกคุกคาม"

เอฟบีไอระบุว่า ดิกุยเซปปีไม่ได้อยู่ในรัฐเพนซิลเวเนียขณะที่เกิดเหตุลอบยิง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าขณะนั้นเธออยู่ที่ไหน

AFP ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้หญิงที่ปรากฏในวิดีโอได้ แต่สังเกตว่าหมวกของเธอระบุข้อความว่า "พระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน ทรัมป์คือประธานาธิบดีของฉัน"

หลายโพสต์ชี้ว่าผู้หญิงในวิดีโอมีพฤติกรรมน่าสงสัย และกล่าวหาว่าเธอให้ความช่วยเหลือกับมือปืน เนื่องจากภาพของการลอบยิงแสดงให้เห็นว่าเธอได้หยิบโทรศัพท์มือถือมาบันทึกเหตุการณ์ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาเข้ามาล้อมทรัมป์และรีบพาเขาลงจากเวที

(DC POOL / Gregory WALTON, Anne LEBRETON, Gilles CLARENNE, Moisés ÁVILA)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอและภาพถ่ายต่าง ๆ จากงานปราศรัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในวิดีโอกับดิกุยเซปปีมีลักษณะใบหน้าที่แตกต่างกันหลายจุด เช่น ขากรรไกรและหู (ลิงก์บันทึกที่นี่  นี่  นี่ และ นี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจาก Getty Images โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ
Image
ภาพถ่ายหน้าจอจาก HaystackNews

ก่อนหน้านี้ เอฟบีไอถูกอ้างถึงในทฤษฎีสมคบคิดที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เหตุจลาจลรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2564

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับการลอบยิงทรัมป์ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา