วิดีโอ 'น้ำท่วมฉับพลันในมาเลเซีย' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ในขณะที่มาเลเซียกำลังเข้าสู่ช่วงพายุฤดูฝนประจำปี ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพเหตุการณ์ฝนตกและน้ำท่วมฉับพลันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ อย่างไรก็ตาม เจ้าของวิดีโอดังกล่าวกล่าวกับ AFP ว่าวิดีโอของเขาถูกนำไปแชร์อย่างผิด ๆ เพื่อ "ยั่วยุอารมณ์" ของผู้คน

"ไม่มีอะไรที่เป็นไม่ได้ถ้าอัลลอฮประสงค์" ผู้ใช้งานรายหนึ่งโพสต์ข้อความและคลิปซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 1.9 ล้านครั้งบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ที่มวลน้ำฝนปริมาณมหาศาลตกลงใส่กลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยจนทำให้น้ำท่วมถนนในบริเวณนั้น ข้อความภาษามาเลเซียที่ฝังอยู่ในคลิปแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ฝนตกและน้ำท่วมฉับพลันในกัวลาลัมเปอร์"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 (FS)

วิดีโอนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ในช่วงเข้าสู่ฤดูมรสุมในมาเลเซียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดฝนตกรุนแรงและน้ำท่วมฉับพลัน (ลิงก์บันทึก)

คำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันนี้ปรากฏในโพสต์ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ผู้ใช้งานบางส่วนเชื่อว่าวิดีโอนี้มาจากเหตุการณ์จริง และโพสต์ข้อความในช่องแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากเพื่อให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบว่าวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ในโพสต์ติ๊กตอกของผู้ที่มักเผยแพร่เนื้อหาจากเอไอชื่อมิสบา ซามาร์

วิดีโอดังกล่าวปรากฏข้อความ "#aigeneratedvideo" หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "วิดีโอที่สร้างจากเอไอ" ฝังอยู่ในวิดีโอ และคำบรรยายในโพสต์ก็ระบุอย่างชัดเจนด้วยข้อความเดียวกัน 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับบนติ๊กตอกซึ่งระบุว่าเป็น "วิดีโอที่สร้างจากเอไอ"

มิสบากล่าวว่า เขาใช้แอปพลิเคชันชื่อไหโหลเอไอ (HailuoAI) ด้วยคำสั่ง "แปลงภาพเป็นวิดีโอ" เพื่อทำคลิปนี้ขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างวิดีโอด้วยคำสั่งต่าง ๆ ในรูปแบบข้อความหรือรูปภาพก็ได้ 

"น่าเศร้าที่มีคนเอาวิดีโอนี้ไปโพสต์และจงใจเปลี่ยนคำบรรยายเพื่อยั่วยุอารมณ์ผู้คน" เขากล่าวกับ AFP 

องค์ประกอบของเอไอ 

ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวว่าวิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ "สร้างจากเอไออย่างชัดเจน" และมี "องค์ประกอบภาพที่ขัดแย้งกับกฎฟิสิกส์อยู่หลายแห่ง" (ลิงก์บันทึก

เขาชี้ให้เห็นเบาะแสหลายจุดที่บ่งชี้ว่าวิดีโอนี้ถูกสร้างจากเอไอ อย่างเช่น รถยนต์สีเหลืองที่ปรากฏในตอนต้นของวิดีโอหายไปหลังจากฝนตกหนัก และมีรถยนต์สีดำปรากฏขึ้นมาแทน 

Image
เปรียบเทียบภาพจากวิดีโอต้นฉบับซึ่งแสดงองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ คือ รถยนต์สีดำปรากฏขึ้นแทนที่ (ซ้าย) และรถยนต์สีเหลืองหายไป (ขวา)

กลุ่มต้นไม้บริเวณพื้นหลังของวิดีโอส่ายไปมาอย่างรุนแรงจากลมพายุขณะฝนตก ในขณะที่ต้นไม้ต้นอื่น ๆ ในวิดีโอไม่มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ต้นไม้บางต้นบริเวณหน้าอาคารอยู่ดี ๆ ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากที่ฝนตกและเกิดน้ำท่วม

Image
การเปรียบเทียบภาพจากวิดีโอต้นฉบับซึ่งแสดงองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

ถนนในสิงคโปร์

สถานที่ที่ปรากฏในวิดีโอคือย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ไม่ใช่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย

"(อพาร์ตเมนต์) อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของสิงคโปร์ เขตฉัวฉู่คั่ง ย่านยิวที" มิสบากล่าวกับ AFP

AFP สามารถยืนยันได้ว่าสถานที่ในคลิปวิดีโอดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายจากกูเกิลสตรีตวิว

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จอื่น ๆ ที่อ้างว่ารูปจากเอไอนั้นมาจากเหตุการณ์จริง เช่น วิดีโอพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน และภาพครอบครัวที่ลำคอยาวที่สุดในโลก

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา