ภาพ 'เมืองมาเนาส์' ติดป่าอะแมซอนในบราซิลถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ

ภาพที่แสดงแนวแบ่งชัดเจนระหว่างเขตเมืองกับป่าฝนแอมะซอนถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพถ่ายจากมุมสูงของเมืองมาเนาส์ ประเทศบราซิล อย่างไรก็ตาม แม้ภาพดังกล่าวจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะจริงของเมืองมาเนาส์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าแอมะซอน แต่นี่เป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล

"แบ่งเมือง แบ่งป่า ชัดเจน ที่มาเนาส์ บราซิล" เพจเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568

มาเนาส์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าฝนอะแมซอน เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐอามาโซนัสในประเทศบราซิล (ลิงก์บันทึก)

ภาพมุมสูงในโพสต์ดังกล่าวแสดงแนวแบ่งระหว่างเขตเมืองกับป่าอะแมซอนอย่างชัดเจน โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปมากกว่า 4,800 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์อื่น ๆ พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในภาษาไทย และภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษามาเลย์ และอินโดนีเซีย

"สวยงามเป็นระเบียบมากค่ะ บ้านเมืองของเขา" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"คอนโดที่ได้วิวป่าคงแพงน่าดู เพราะไม่มีตึกบังในอนาคตแน่ๆ" ผู้ใช้งานอีกรายระบุ

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพที่ถูกสร้างด้วยเอไอ

ภาพที่ 'สร้างด้วย Google AI'

AFP ได้ทำการค้นหาภาพย้อนหลังผ่านกูเกิล เมื่อคลิกที่แท็บ "เกี่ยวกับภาพนี้" แล้วพบข้อความกำกับภาพที่ระบุว่า "สร้างด้วย Google AI"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจาก Google Images โดย AFP ทำเครื่องหมายสีแดงเพื่อเน้นให้เห็นคำบรรยายประกอบภาพ "สร้างด้วย Google AI"

โฆษกของกูเกิลยืนยันกับกับ AFP ว่า ลายน้ำซินธ์ไอดีของภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า "ภาพนี้ถูกสร้างหรือดัดแปลงด้วยเอไอ"

ในปี 2566 ห้องปฏิบัติการดีปมายด์เอไอ (DeepMind AI) ของกูเกิลได้เปิดตัวซินธ์ไอดี (SynthID) ซึ่งเป็นเครื่องมื่อใส่ลายน้ำดิจิทัลและใช้ระบุภาพที่สร้างขึ้นด้วยกูเกิลเอไอ (Google AI) (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

"ซินธ์ไอดีถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเช่นนี้ และเรามีความยินดีที่เห็นว่ามันถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้" โฆษกของกูเกิลกล่าวในอีเมลเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568

ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ข้อมูลกับ AFP ว่าภาพนี้มีลักษณะหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นภาพที่ถูกสร้างโดยเอไอ

ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อแห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ในภาพนั้นมี "สีขาวล้วน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ "แทบไม่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง" (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นว่า "เงาของรถยนต์หายไป" และ "เงาของอาคารไม่มีรูปร่างที่ชัดเจน" อีกด้วย

ซีเหวย หลิ่ว ผู้อำนวยการห้องปฏับัติการทางนิติวิทยาศาสตร์สื่อของมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติอื่นในภาพ เช่น หน้าต่างของอาคารบางหลังมีรูปร่างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ โดย AFP ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญที่ชี้ว่าภาพถูกสร้างด้วยเอไอ

ภาพถ่ายของเมืองมาเนาส์

แม้ว่าภาพที่สร้างด้วยเอไอจะคล้ายกับภาพถ่ายเมืองมาเนาส์ของช่างภาพ AFP แต่ลักษณะของอาคารที่อยู่ติดกับแนวแบ่งระหว่างเมืองกับป่าฝนนั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สร้างด้วยเอไอ (ซ้าย) และภาพเมืองมาเนาส์ที่ถ่ายโดย AFP (ขวา)

ภาพจากดาวเทียมและภาพระดับถนนในกูเกิลเอิร์ธแสดงให้เห็นว่าอาคารในเมืองมาเนาส์ที่อยู่ใกล้แนวแบ่งนั้นแตกต่างจากอาคารในภาพเอไอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตึกสูง

Image
ภาพระดับถนนจาก Google Earth แสดงให้เห็นถนนเส้นหนึ่งในเมืองมาเนาส์

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่แชร์ภาพที่สร้างขึ้นด้วยกูเกิลเอไอ สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา