โพสต์เท็จแชร์รูปเอไอและคำกล่าวอ้างว่าพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ในอินโดนีเซีย

นักโบราณคดียืนยันกับ AFP ว่า "กุนุงปาดัง" (Gunung Padang) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะชวาตะวันตกในอินโดนีเซียไม่ใช่พีระมิดตามคำกล่าวอ้างเท็จออนไลน์ นอกจากนี้ ภาพต่าง ๆ ในโพสต์เป็นภาพที่ถูกสร้างจากปัญญาประดิษฐ์ และไม่ได้มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงสร้างหินอันซับซ้อนของโบราณสถานจริงแต่อย่างใด 

"Gunung Padang: พีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซ่อนอยู่ใต้พิภพ" ข้อความของโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ระบุ

ภาพในโพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอาคารทรงครึ่งวงกลมเป็นชั้น ๆ ภายใต้เนินเขาซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าไม้

"สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกไม่ได้อยู่ในอียิปต์ แต่อยู่ในอินโดนีเซีย" ข้อความในโพสต์ระบุเพิ่มเติม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ออกไปหลายหมื่นครั้งพร้อมกับรูปภาพลักษณะคล้ายกันในมุมต่าง ๆ ทั้งในโพสต์ภาษาไทย  จีน  อังกฤษ และ อินโดนีเซีย 

ระเบียงหิน

นักวิชาการยืนยันกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างว่ากุนุงปาดังเป็นสถาปัตยกรรมพีระมิดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ลุฟตี ยอนดรี นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยปัดจัดจารัน ซึ่งได้ทำการขุดค้นศึกษาโบราณสถานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2540 บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ว่า โครงสร้างของกุนุงปาดังเป็น "ระเบียงหินที่ถูกจัดเรียงอย่างซับซ้อน" (ลิงก์บันทึก

เขากล่าวเพิ่มเติมว่าผลการตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนพบว่าระเบียงหินนี้ถูกสร้างขึ้นในราวช่วง 117 ถึง 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมเหนือเสาหินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรณีวิทยาตามธรรมชาติ

ทรูมัน ซีมันจุนตัก จากศูนย์การศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมออสโตรนีเซียน กล่าวเช่นเดียวกันว่า กุนังปาดัง "ไม่มีความเกี่ยวข้องใด" กับพีระมิด (ลิงก์บันทึก

"การอ้างว่ามีห้องโถงที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ภายใต้เนินเขานั้นเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ" เขากล่าวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 "มาใช้เหตุผลและพูดคุยกันด้วยข้อมูลจะดีกว่า"

งานวิจัยปี 2566 ชิ้นหนึ่งซึ่งบรรยายลักษณะของกุนุงปาดังว่าเป็น "พีระมิดสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์" และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารโบราณคดีศึกษา (Archaeological Prospection) นั้นได้ถูกถอดถอนในเวลาต่อมา เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญสาขาธรณีฟิสิกส์ โบราณคดี และการตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของงานวิจัยชิ้นนี้ (ลิงก์บันทึก

ผิดหลักฟิสิกส์

นอกจากนี้ ภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลกออนไลน์นั้นยังมีความแตกต่างจากภาพของสถานที่จริงซึ่งบันทึกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ภาพของ AFP 

Image

ซีเหวย หลิ่ว ผู้อำนวยการห้องปฏับัติการทางนิติวิทยาศาสตร์สื่อของมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าวว่าผลการวิเคราะห์ภาพต่าง ๆ พบว่า "มีความเป็นไปได้เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์" ที่ภาพเหล่านี้เกิดจากเครื่องมือเอไอ (ลิงก์บันทึก

เขากล่าวว่าหนึ่งในภาพที่ถูกแชร์พบจุดที่ผิดหลักทัศนมิติตามการมองเห็นจริง กล่าวคือแนวเส้นขนานทั้งสี่เส้นที่ควรจะเอียงเข้าหากันกลับไม่บรรจบที่จุดเดียวกัน ซึ่งถือ "เป็นหนึ่งในลักษณะของข้อผิดพลาดที่มักปรากฏในภาพที่สร้างจากเอไอ"

Image
ภาพในโพสต์เท็จ โดยซีเหวย หลิ่วได้ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดหลักทัศนมิติ

ฉู่ หู ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ชี้ให้เห็นว่าเงาในภาพนั้น "เป็นไปไม่ได้ตามหลักฟิสิกส์" เนื่องจากเงาของวัตถุทอดไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดแสง (ลิงก์บันทึก

Image
ภาพในโพสต์เท็จ โดยฉู่ หู ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพเกี่ยวกับแสงและเงาที่ผิดปกติ

แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธียืนยันภาพที่สร้างจากเอไอที่สามารถใช้ได้ผลในทุกกรณี แต่การสังเกตองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากภาพที่สร้างจากเอไอยังไม่สมบูรณ์แบบแม้จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็ตาม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา