นี่เป็นภาพการฝึกสมาธิ ไม่ใช่ผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในเมียนมา

ภาพถ่ายเก่าจากสถานปฏิบัติธรรมในเมียนมาถูกนำกลับมาแชร์ในโลกออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ที่คร่าชีวิตผู้คนในประเทศไปแล้วกว่า 3,000 ราย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ที่จริงแล้ว ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในโพสต์เกี่ยวกับการฝึกสมาธิตั้งแต่ปี 2562

"#ข้าพเจ้าขอถวายความอาลัยแด่พระภิกษุชาวพม่า จนถึงวันนี้ 80 กว่ารูปที่จากไปจากเหตุแผ่นดินไหว" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 เขียนคำบรรยาย

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่าย 3 ภาพ โดยสองภาพแรกแสดงให้เห็นพระภิกษุและเณรนอนราบกับพื้น ส่วนภาพที่สามแสดงให้เห็นคนทั่วไปนอนในลักษณะเดียวกัน

สื่อของรัฐบาลเมียนมาระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตเกิน 3,300 คนเป็นอย่างน้อย โดยประชาชนจำนวนมากในประเทศขาดแคลนที่อยู่อาศัย เนื่องจากบ้านเรือนของพวกเขาถูกทำลายหรือพวกเขากลัวว่าบ้านเรือนจะถล่มลงมา (ลิงก์บันทึก)

Image

ภาพเหล่านี้ยังถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยและฮินดี

ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อว่าภาพถ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว

"สาธุขอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีนะคะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ระวังป้องกันใด้ ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียและพระสงฆ์ที่มรภาพจากเหตุการแผ่นดินไหวในครั้งนี้" ผู้ใช้งานอีกรายระบุ

แต่ภาพถ่ายเกิดขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหวและแสดงการฝึกสมาธิ

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพเหล่านี้ถูกแชร์โดยเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งชื่อ Theinngu 32 พร้อมคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "การฝึกนอนสมาธิ" (ลิงก์บันทึก)

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวระบุภาพกิจกรรมนี้มาจากสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมียนมา (ลิงก์บันทึก)

ภาพที่หนึ่งซึ่งแสดงพระภิกษุหลายรูปถูกแชร์วันที่ 27 มกราคม 2563 ภาพที่สองหรือภาพเณรถูกแชร์วันที่ 5 ตุลาคม 2563 และภาพที่สามที่เผยให้เห็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งนอนเรียงกันถูกแชร์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 (ลิงก์บันทึกที่นี่  นี่ และ นี่)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับภาพที่ถูกแชร์ในเพจเฟซบุ๊ก Theinngu 32 (ขวา)
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับภาพที่ถูกแชร์ในเพจเฟซบุ๊ก Theinngu 32 (ขวา)
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับภาพที่ถูกแชร์ในเพจเฟซบุ๊ก Theinngu 32 (ขวา)

แอดมินของเพจเฟซบุ๊ก Theinngu 32 ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 2 เมษายน ว่า ทั้งสามภาพไม่เกี่ยวข้องกับเหตุแผ่นดินไหวแต่อย่างใด

"ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นการฝึกนอนสมาธิที่สถานที่ปฏิบัติธรรมจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วันในอดีต" แอดมินคนดังกล่าวระบุกับ AFP เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในเมียนมา สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา