A health worker administers a swab test for the Covid-19 coronavirus at Wat Phra Sri Mahatat Buddhist temple in Bangkok on July 8, 2021. ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 8 กรกฎาคม 2021 เวลา 08:06
  • อัพเดตแล้ว วัน 8 กรกฎาคม 2021 เวลา 11:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างที่ระบุว่า โรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่เป็นไข้แบบเดียวกัน และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีเดียวกัน คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด แม้ว่าอาการของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 จะมีลักษณะบ้างส่วนที่คล้ายกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายว่าสาเหตุของการเกิด วิธีการแพร่เชื้อ และวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน

คำกล่าวอ้างนี้ ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 4,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วนว่า: “#อย่าตกใจไปตามชื่อ เชื้อที่รับเข้าไป ไม่ใช่ เพียงเปลี่ยนชื่อ จาก ไข้หวัดใหญ่ เป็น Covid แล้วจิตตก ซึ่งมันก็คือ #ไข้เหมือนกัน และรักษาได้เองที่บ้าน จะโดยสมุนไพร หรือ ตามหลักการแพทย์ สมัยใหม่ก็ได้ นั้นคือ”

1. ยาลดไข้ ทิฟฟี่

2. ยาฆ่าเชื้อ Amoxy (อะม็อกซี่)

3. น้ำขิง น้ำต้มยำ ซดร้อนๆ”

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์พร้อมภาพถ่ายอีก 3 ภาพ โดยเป็นภาพยา และภาพถ่ายหน้าจอรายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงที่สุด ท่ามกลางความพยายามที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาเดินทางในจังหวัดภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่นี่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้กล่าวเน้นย้ำว่าโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โรคเดียวกัน

สาเหตุ

แม้ว่าไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 จะเป็นโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่เกิดจากไวรัสคนละตัว องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าว

ข้อมูลในส่วน “ความคล้ายและความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและโควิด-19” บนเว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พบครั้งแรกในปี 2562 ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม “เชื้อไวรัสทั้งสองชนิดแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้ป่วย (จากโรคโควิด-19 หรือโรคไข้หวัด) ไอ จาม หรือพูด”

อาการ

CDC กล่าวว่าอาการของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่มีส่วนที่คล้ายกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการ (การไม่แสดงอาการ) ไปจนถึงอาการหนัก อาการที่พบบ่อยในทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้ ไอ เหนื่อยล้า คัดจมูก และเจ็บคอ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ CDC ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาจจะมีอาการอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่าในผู้ป่วยโรคไข้หวัด เช่น จมูกไม่ได้กลิ่นและลิ้นไม่รับรส

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะแสดงอาการช้ากว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

แม้ว่าอาการป่วยของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่จะมีส่วนที่คล้ายกันอยู่ แต่ WHO กล่าวว่าสัดส่วนของผู้ป่วยขั้นวิกฤติของโรคโควิด-19 นั้นสูงกว่าผู้ป่วยขั้นวิกฤติในโรคไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลปัจจุบันสำหรับโรคโควิด-19 สันนิษฐานว่า 80% ของผู้ป่วยจะมีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ 15% อาการติดเชื้อหนัก โดยต้องใช้ออกซิเจน และ 5% มีอาการระดับวิกฤติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักและวิกฤติเหล่านี้สูงกว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่

วิธีการรักษา

ไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มีขั้นตอนการรักษาที่ต่างกัน

ผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดควรรักษาอาการป่วยโดยการใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA)

ในทางกลับกัน ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาที่ FDA อนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังศึกษาหลักฐานใหม่ เกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ

การตรวจสามารถยืนยันได้ว่าบุคคลดังกล่าวป่วยจากโรคโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้ที่ผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ควรปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขและติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นทันที ขณะที่บุคคลที่ป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ควรพักผ่อนที่บ้านและติดต่อแพทย์ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา