แม่ค้ากำลังเตรียมผักสดสำหรับการปรุงอาหารภายในตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ( AFP / Romeo GACAD)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนเรื่องวิธีการ “ดื่มน้ำสมุนไพรรักษามะเร็ง” ที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 06:03
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 7 ตุลาคม 2021 เวลา 11:11
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการดื่มน้ำปั่นจิงจูฉ่าย พืชสมุนไพรที่มักจะถูกนำมาใช้ทำอาหารในแถบเอเชีย สามารถช่วย “รักษาโรคมะเร็ง” ได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว ขณะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าคำกล่าวอ้างเป็น “ข่าวปลอม”

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564

คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “จิงจูฉ่าย เป็นผัก มหัศจรรย์ สามารถใช้รักษามะเร็งได้ !”

จิงจูฉ่าย (White Mugwort) เป็นพืชสมุนไพรที่ใบและรากมักจะถูกนำมาใช้ในอาหารแถบเอเซีย

คำบรรยายในโพสต์ดังกล่าว เล่าประสบการณ์ของชายคนหนึ่งที่หายจากโรคมะเร็งภายหลังจากที่เขาดื่มน้ำใบจิงจูฉ่ายที่แม่ของเขาชงให้ดื่ม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ที่นี่ และก่อนหน้านี้ในปี 2562 และ 2560

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

“อาจมีผลเสียต่อร่างกาย”

พญ.ณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด สถานบันมะเร็งแห่งชาติ เตือนว่าพืชสมุนไพรดังกล่าวไม่สามารถรักษาโรคมะเร็ง

“ไม่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งของจิงจูฉ่าย” เธอบอกกับ AFP

“คือมันมีวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งอยู่ 3 ทาง นั่นก็คือ การผ่าตัด การให้ยา และการฉายแสง ซึ่งวิธีเหล่านี้ควรอยู่ใต้การดูแลของแพทย์ การลองวิธีการรักษาด้วยตัวเองอาจมีผลเสียต่อร่างกาย”

รศ.ดร. ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวเช่นกัน

“ความคิดที่ว่าการดื่มน้ำปั่นผักจิงจูฉ่ายก็เหมือนแนวคิดน้ำปั่นเพื่อสุขภาพทั่วๆ ไป ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง  ไม่ใช่ประเด็นเพื่อรักษาโรค” เธอกล่าวกับ AFP

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 สถานบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม”

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอา้งที่แชร์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวิธีการรักษามะเร็งต่างๆ ที่นี่ นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา